อธิบดีอุตุฯ แจงสยบข่าวลือ 16 มี.ค.ร้อนทะลุ 44 องศาฯ แต่เม.ษ.แค่ร้อนตับแตกสูงสุด 44 องศาฯ บางพื้นที่ วอนหยุดแชร์ข้อความสร้างสับสน ด้าน "สมิทธ" เตือนเหนือตอนล่าง-กลางตอนบน กระทบมากสุด จี้ รัฐ บอกความจริงสถานการณ์น้ำ ให้ปชช.รับมือ...
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 59 นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผย ไทยรัฐออนไลน์ ถึงกระแสข่าวลือในสื่อออนไลน์ว่า วันพรุ่งนี้ (16 มี.ค.) อากาศจะร้อนมากอุณหภูมิทะลุเกิน 44 องศา ว่า กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซึ่งปกติอุณหภูมิจะปรับขึ้นและลดลงทุกวัน โดยอุณหภูมิในประเทศไทยจะสูงสุดถึง 44 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนเมษายนบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันตก ซึ่งติดชายแดนพม่า และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งปีนี้เป็นปีที่ประสบปัญหาน้ำน้อย จึงอยากให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือภัยแล้งและบริหารจัดการน้ำให้พอใช้ภายในอีก 3-4 เดือน
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือไปยังประชาชนงดเผยแพร่ข้อความที่สร้างความสับสนและตื่นตระหนก ขอให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ แหล่งที่มาของข้อมูล หรือสอบถามข้อเท็จจริงโดยตรงกับกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 และ หมายเลขโทรศัพท์ 02-399-4012 ถึง 3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา
ขณะที่ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยถึงสถานการณ์อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ว่า ประเทศไทยจะร้อนสูงสุดช่วงเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคม โดยอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 35-40 องศาเซลเซียส ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน
...
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงปริมาณน้ำที่แท้จริงกับประชาชน ไม่ใช่กล่าวเพียงว่า น้ำจะพอใช้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ขณะนี้หลายเขื่อนมีปริมาณน้ำที่เก็บกักไม่เพียงพอ และไม่สามารถทำฝนหลวงได้ เนื่องจากความชื้นในอากาศไม่สูง ในบางพื้นที่ไม่สามารถนำน้ำมาใช้สำหรับอุปโภคและบริโภค รวมถึงใช้ในด้านการเกษตร เนื่องจาก ปัญหาน้ำทะเลหนุนเดือนละ 2 ครั้ง หากใช้น้ำดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อพืชผลของเกษตรกร จึงควรเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือ และจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งานไปจนถึงเดือนมิถุนายน
ดร.สมิทธ กล่าวอีกว่า วิกฤติภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลไปจนถึงกลางเดือนมิถุนายน อีกทั้งช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วง คาดว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบหนักในช่วงนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางส่วนของภาคตะวันตก รวมไปถึงลุ่มน้ำแม่กลอง อย่างไรก็ตาม วิกฤติภัยแล้งจะคลี่คลายหลังในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเข้าสู่ฤดูฝน.