รอง ผอ.รพ.อุดรฯ เผย ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัด แล้ว 22 ราย กลับบ้านแล้ว 12 ราย แนะผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานใกล้ชิด ด้าน สสจ. เผยสถิติปี 57 เด็กอายุ 10-14 ปี เจ็บจากการเล่นปะทัดมากสุด และอายุน้อยสุดคือ 1 ขวบ ...

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 58 นพ.ณรงค์ ธาดาเดช รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมดูอาการเด็ก และเยาวชน ที่บาดเจ็บจากการเล่นประทัด ในอำเภอต่างๆ มาพักรักษาอาการบาดเจ็บ 3 คน เป็นเด็กผู้ชายทั้งหมด อายุ 10 ขวบ 2 คน อีกรายอายุ 18 ปี ทั้งหมดมีบาดแผลที่มือ มีลักษณะฉีกขาด บวมช้ำ มีแผลเล็กตามแขน ใบหน้า ลำตัว และมี 1 ราย ข้อนิ้วขาด 1 ข้อ

ผู้บาดเจ็บเล่าถึงเหตุการณ์ว่า แต่ละคนไปซื้อ ประทัดลูกบอล ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม เพราะมีเสียงดังกว่าแบบอื่นจากร้านค้าที่เปิดขายอยู่ในหมู่บ้าน ครั้งแรกก็จะวางไว้แล้วเอาไฟจุด ต่อมาใช้มือถือประทัดไว้ขณะจุด และโยนออกห่างจากตัว โดยประทัดลูกบอลที่ทำให้บาดเจ็บ ชนวนมีความเร็วกว่าปกติ จึงระเบิดอยู่ที่มือ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ

นพ.ณรงค์ ธาดาเดช เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม มาถึงขณะนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัด ทั่ว จ.อุดรธานี มารักษาที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี 22 ราย ทำแผลและเดินทางกลับไปแล้ว 12 ราย อีก 10 ราย ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ขณะนี้ ยังมีผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล 3 ราย อาการหนักหรือสาหัส นิ้วขาด 2 ราย โดยจะมีผู้บาดเจ็บจากประทัด มารับการรักษาไปจนถึงหลังออกพรรษา ซึ่งจะมีบาดแผล 3 ทาง คือ ผิวหนังเกิดแผลไหม้ นิ้วมือหรืออวัยวะขาด และส่วนที่บอบบางที่สุดคือ ตา

ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ภาคอีสานจะมีการจุดประทัด อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน ตักเตือนในการเล่นประทัดของเด็ก ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ผู้ปกครองเฝ้าดู และเลือกประทัดที่ไม่มีความรุนแรง หรือรุนแรงน้อยที่สุด เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุพลาดพลั้งขึ้นมา จะทำให้ร่างกายพิการ นิ้วขาด มือขาด ตาบอด ซึ่งในวันออกพรรษาจะมีผู้บาดเจ็บจากประทัดเข้ามารักษาจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลได้เตรียมเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ ห้องผ่าตัดไว้พร้อมรับเหตุการณ์

...

ด้าน รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า "ประทัดถูกจัดในหมวดหมู่วัตถุระเบิด อาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อย ผู้ขายไม่สมควรจะขายให้ สอบถามผู้บาดเจ็บก็พบว่าเด็กก็ยังซื้อได้ ผู้เล่นต้องระมัดระวังไม่จุดในบ้าน, ไม่จุดใกล้สายไฟ หรือใกล้แหล่งเชื้อไฟ, ไม่จุดครั้งละจำนวนมาก, ไม่จุดที่มีสายชนวนสั้น, ไม่จุดแล้วโยนใส่ผู้อื่น และหากจุดแล้วไม่ระเบิด ต้องไม่เอามาจุดซ้ำ"

ทั้งนี้ นายแพทย์สมิต ประสันนาการ สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้สรุปรายงานผู้บาดเจ็บจากประทัดให้ นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี สั่งการผู้รับผิดชอบเข้มงวดกวดขัน การจำหน่วย และการเล่นในช่วงเทศกาลออกพรรษาทั้งจังหวัด ส่วนเทศกาลลอยกระทง เฉพาะในเขตเมืองอุดรธานี โดยสถิติในปี 2557 มีผู้เข้ารับการรักษา 113 ราย อายุน้อยสุด 1 ขวบ ช่วงอายุ 10-14 ปี มากที่สุดถึง 48 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้บาดเจ็บที่มือและนิ้ว 89 ราย (นิ้วขาด 9 ราย) รองลงมาคือ ดวงตา 13 ราย และประทัดที่มีความรุนแรง และทำให้เกิดการบาดเจ็บสูงสุดคือ ประทัดลูกบอล 83 ราย หรือ 73.45 เปอร์เซ็นต์