ศาลฎีกาตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี 1 เดือน “หมูแฮม” นายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ลูกชายอดีตนางสาวไทย คดีขับรถเบนซ์พุ่งชนคนบาดเจ็บและเสียชีวิต บริเวณป้ายรถประจำทาง ศาลพิพากษาแก้ไม่รอลงอาญาควบคุมตัวส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯทันที โดยไม่มีพ่อและแม่จำเลยมาร่วมฟังการพิจารณาคดีแต่อย่างใด ทนายความโจทก์ร่วมระบุ ให้อภัยและไม่ติดใจ หลังทวงความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตแล้ว

ศาลฎีกาตัดสินจำคุก “หมูแฮม” คดีขับรถพุ่งชนคนตายที่ป้ายรถเมล์ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ก.ย. ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ถนนสรรพาวุธ ห้องพิจารณา 29 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 (พระโขนง) นายมาโนจน์ โตจวง น.ส.สังวาล สีหะวงษ์ น.ส.สุชีรา อินทร์สุวรรณ์ และนางทองดำ หลวงแสง ผู้บาดเจ็บ ทั้งคู่เป็นบุตรและมารดาของนางสายชล หลวงแสง พนักงานการเงิน ขสมก.ผู้ตาย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง นายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือหมูแฮม อายุ 27 ปี บุตรชายนายกัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น และทำร้ายร่างกายผู้อื่นทำให้ได้รับอันตรายแก่กาย โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.50 เวลา 22.50 น. จำเลยใช้ก้อนหินทุบใบหน้านายสถาพร อรุณศิริ พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 513 วิ่งระหว่างสำโรง-รังสิต ได้รับบาดเจ็บและขับรถเบนซ์ ทะเบียน ศศ 6699 กรุงเทพมหานคร พุ่งชน ผู้โดยสารยืนอยู่บนทางเท้า ทำให้นางสายชล หลวงแสง พนักงานการเงิน ขสมก. เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดบริเวณหน้าป้อมตำรวจจราจร ปากซอยสุขุมวิท 26 แยกอารีย์ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม.

ก่อนหน้านี้วันที่ 30 ม.ค.52 ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำคุก ฐานฆ่าผู้อื่น 10 ปี และฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น 1 เดือน ริบรถยนต์ของกลาง พร้อมทั้งให้นายกัณฑ์พิทักษ์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ นางสมจิตร แกล้วกล้า กระเป๋ารถเมล์ ผู้เสียหาย 100,000 บาท น.ส.สังวาล โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 800,000 บาท น.ส.สุชีรา โจทก์ร่วมที่ 3 บุตรของนางสายชล พนักงานการเงิน ขสมก.ที่เสียชีวิต จำนวน 79,412 บาท และนางทองดำ มารดาของนางสายชล พนักงานการเงิน ขสมก.ที่เสียชีวิต จำนวน 2,158,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันทำละเมิด เมื่อวันที่ 4 ก.ค.50 จนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาวันที่ 5 มี.ค.56 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นในขณะไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง ให้จำคุกจำเลย 3 ปี แต่เมื่อจำเลยได้บรรเทาผลร้าย ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจนเป็นที่พอใจ ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญากับจำเลยต่อไป ศาลอุทธรณ์เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุกจำเลย 2 ปี และเมื่อรวมโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น 1 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 1 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยไปรักษาความบกพร่องทางจิตเป็นประจำตามที่แพทย์กำหนด โดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติทุกครั้งตลอดระยะเวลาของการรอลงอาญา ต่อมาอัยการโจทก์และนางสุชีรา โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นฎีกา

...

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้เสียหายขับรถประจำทางเฉี่ยวชนรถเบนซ์ จำเลยจึงขับรถติดตามระหว่างทางได้แจ้งตำรวจด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยพูดกับผู้เสียหายก็ปฏิเสธไม่ได้ขับรถเฉี่ยวชน จำเลยจึงหยิบก้อนหินทุบศีรษะผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามมาได้ดึงแขนจำเลยเข้าไปนั่งในรถเบนซ์ พนักงานกระเป๋ารถเมล์เดินตามมาโต้เถียงพร้อมกับกลุ่มคนอีก 7-8 เข้าไปทุบที่กระจกรถ จนกระทั่งน้องสาวของจำเลยที่นั่งอยู่ในรถร้องไห้ จำเลยจึงได้พยายามขับรถออกก่อนที่จะพุ่งชนบุคคลที่ยืนรอรถเมล์ และชนพนักงาน ขสมก. หลังก่อเหตุพบจำเลยนั่งนิ่งหลังติดเบาะ ใบหน้าและมือเกร็งชิดอก โดยไม่ได้จับพวงมาลัยบังคับรถ

ทั้งนี้ มีการตรวจภาวะทางจิตของจำเลย พบว่า ในวัยเด็กจำเลยเคยมีอาการชักเกร็ง ขณะที่จำเลยสะสมความเครียดตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อบิดา-มารดาแยกทางกัน น้องสาวของจำเลยคนหนึ่งมีอาการป่วยออทิสติก และอีกคนป่วยโรคลิ้นหัวใจ โดยช่วงวัยรุ่นอายุ 17-18 ปี จำเลยเคยใช้สารเสพติดประเภทยาบ้า ยาไอซ์ และยาเค เพราะรู้สึกตนเองไร้ค่า ถูกทอดทิ้งประกอบผิดหวังด้านความรักถึงขั้นคิดทำร้ายตนเองและจะฆ่าตัวตาย ก่อนเกิดเหตุจำเลยได้เข้ารักษาอาการต่อเนื่องที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ แพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยมีภาวะอารมณ์แปรปรวน เมื่อเกิดอาการโกรธหรือเครียดต้องรักษาด้วยการกินยา แต่ช่วงก่อนเกิดเหตุทิ้งช่วงการรักษาไปนาน 1 เดือน เนื่องจากช่วงนั้นจำเลยผิดหวังกับความรักครั้งที่ 2 ขับรถชนกำแพงบริเวณทางด่วน และเคยขอยืมอาวุธปืนจากญาติเพื่อจะฆ่าตัวตาย ฟังได้ว่าจำเลยมีความบกพร่องทางจิต เมื่อมีบุคคลมาทุบรถกระทั่งน้องสาวจำเลยร้องไห้ ย่อมทำให้เกิดความโกรธและกลัวจนเครียด ขับรถออกมาพุ่งชนนั้นเป็นการแสดงความก้าวร้าวเมื่อเกิดอาการ จำเลยพยายามขับรถออกไปเมื่อมีผู้มาทุบกระจกรถ แสดงให้เห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยก็น่าจะรู้ผิดชอบ แต่การกระทำที่ฆ่าผู้อื่นเกิดจากความบกพร่องทางจิต ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

ศาลพิเคราะห์ด้วยว่า พฤติการณ์มีความร้ายแรง แต่การที่บิดาของจำเลยยังยอมให้จำเลยขับรถ ศาลพิเคราะห์ถึงสภาวะแวดล้อม อายุ ประวัติ ความประพฤติ ภาวะแห่งจิต และสิ่งแวดล้อมของจำเลยแล้ว ไม่เป็นการสมควรที่รอการลงโทษในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นฯ ที่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของอัยการโจทก์ และ น.ส.สุชีรา โจทก์ร่วมที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นในขณะไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 1 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ให้ยกเลิกการคุมประพฤติจำเลย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าคุมตัวนายกัณฑ์พิทักษ์ หรือหมูแฮม ที่มีสีหน้าเรียบเฉย ท่ามกลางความเสียใจของกลุ่มเพื่อนๆ ในการฟังคำพิพากษาของศาลสูงสุด ส่วนนายกัณฑ์เอนก และนางสาวิณี ปะการะนัง อดีตนางสาวไทย บิดาและมารดาไม่ได้เดินทางมาแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่คุมตัวนายกัณฑ์พิทักษ์ไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯต่อไป

ด้านนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความโจทก์ร่วม กล่าวว่า คดีถึงที่สุดแล้วต้องยอมรับในคำพิพากษาของศาล โจทก์ร่วมได้ให้อภัยและไม่ติดใจ ในฐานะทนายความทำเต็มที่ ทวงความยุติธรรมให้แก่ผู้ตายแล้ว สำหรับค่าเสียหายนั้นจำเลยและบิดาของจำเลยก็ชดใช้หมดแล้ว ส่วน น.ส.สุชีรา อินทร์สุวรรณ์ อายุ 33 ปี บุตรสาวของนางสายชลผู้ตายกล่าวว่า รู้สึกภูมิใจ หลังต่อสู้คดีมานาน ผ่านความเสียใจ ท้อแท้ สิ้นหวังมาหมด ตอนนี้รู้สึกดีใจเมื่อการต่อสู้เพื่อแม่สำเร็จ