เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า ที่วัดบ้านป่า หมู่ 7 ต.บ้านป่า อ.เมืองพิษณุโลก ชาวบ้านใน ต.บ้านป่าและ ต.ดอนทอง รวมตัวกว่า 300 คน มาร่วมประชุมฟังความคิดเห็นจากผู้นำและแสดงความคิดเห็นในการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะบนพื้นที่ 60 ไร่ อยู่ด้านหลังวัดบ้านป่าประมาณ 2 กม. ที่เป็นผืนนาและมีคลองชลประทานโดยรอบ ซึ่งเป็นโครงการของจังหวัด ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผวจ.พิษณุโลก ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทอีโค เวสท์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ก่อสร้างในพื้นที่ ต.บ้านป่า มูลค่า 1,700 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2558 ที่ห้องประชุมสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ท่ามกลางสักขีพยานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยในการประชุมได้มีตัวแทนชาวบ้านผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอภิปรายถึงผลดีผลเสียของการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งทุกคนต่างคัดค้านและยืนยันตรงกันว่า จะพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้มีการก่อสร้างในพื้นที่ ต.บ้านป่า นางบุญซึ้ง คงหุ่น อายุ 62 ปี ตัวแทนชาวบ้านตำบลบ้านป่า เปิดเผยว่า ชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจที่ทางจังหวัดจัดทำโครงการนี้อย่างเงียบๆ โดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นชาวบ้าน ที่เป็นพิรุธคือมีการก่อสร้างถนนผ่านทุ่งนาไปยังสถานที่ที่กำหนดเป็นที่ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งๆที่ไม่ใช่เส้นทางที่ชาวบ้านใช้ในการสัญจรและไม่มีบ้านเรือนของชาวบ้านเลย
ด้านนายแนบ เดชห้วยไผ่ สมาชิก อบต.ดอนทอง เผยว่า ถนนผิวจราจร คสล. สายหมู่ที่ 8 ต.บ้านป่า หมู่ที่ 11 ต.ดอนทอง โดยใช้งบประมาณ 2558 จำนวน 2,078,550 บาท ของ อบจ.พิษณุโลก ที่เป็นปัญหาและชาวบ้านพากันสงสัยนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่ใช่ถนนเชื่อมหมู่บ้านหมู่ 8 ต.บ้านป่า ไปยังหมู่บ้านหมู่ 11 ต.ดอนทอง เพราะหากมีการก่อสร้างจนสุดสายแล้วก็จะไปชนกับถนนเลียบคลองชลประทาน ไม่ได้ตรงไปที่หมู่บ้านหมู่ที่ 11 ต.ดอนทอง โดยตรง เคยมีการสอบถามแล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบในการอนุมัติงบประมาณอ้างกับชาวบ้านว่า สร้างผิดทาง อย่างนี้ภาครัฐต้องมีการตรวจสอบข้อพิรุธนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนเจ้าของภาษีให้ชัดเจน
...
สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยนั้น บริษัทอีโค เวสท์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ได้ร่วมมือกับบริษัท ซาทาเรม (ประเทศไทย) ดำเนินการนำเอาระบบกำจัดขยะด้วยระบบตะกรับเคลื่อนที่ (Mechanical Moving Grate) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาใช้ในอุตสาหกรรมกำจัดขยะ เพราะเทคโนโลยีตะกรับเคลื่อนที่จะช่วยให้กระบวนการเผาขยะสามารถทำได้โดยไม่ต้องคัดแยก แรงงานคนไม่ต้องสัมผัสกับขยะ ช่วยลดปัญหามลพิษ การติดเชื้อ และการแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคได้ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จะทำการก่อสร้าง มีขนาด 500 ตันต่อวัน ด้วยเงินทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และเมื่อขั้นตอนต่างๆเสร็จเรียบร้อย คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 24 เดือน และจากการที่ชาวบ้าน ต.บ้านป่า รวมทั้งชาวบ้าน ต.ดอนทองบางส่วน รวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างในวันนี้ คาดว่าจะส่งผลให้การก่อสร้างชะงักและล่าช้าออกไปอีก หรืออาจส่งผลให้ต้องมีการย้ายสถานที่ก่อสร้างไปยังที่แห่งใหม่ก็เป็นได้.