อธิบดีฝนหลวงและการบินเกษตรสนองพระราชกระแสรับสั่งตั้งฝนหลวงพิเศษ ปฏิบัติการเพิ่มน้ำลุ่มเจ้าพระยาทั้ง จ.เชียงใหม่ และ จ.นครสวรรค์ ขึ้นบินวันละ 5 เที่ยว เผยเติมในเขื่อนลำตะคองใช้เทคนิคพระราชทานพิเศษ...

เมื่อช่วงสายของวันที่ 29 มิ.ย. 58 ที่หอบังคับการบินกองบิน 1 จ.นครราชสีมา นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยถึงมาตรการทำฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนต่างๆ และวิกฤติสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะต้องทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือนาข้าวของพี่น้องเกษตรกรว่า ขณะนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกร แล้วไปพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งฝนหลวงพิเศษขึ้นมา 2 หน่วย โดยจะมีศูนย์ฝนหลวงพิเศษที่ จ.นครสวรรค์ จำนวน 1 หน่วย และ จ.เชียงใหม่ อีก 1 หน่วย ทั้งสองศูนย์เน้นพื้นที่สำคัญในขณะนี้คือทางลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งอาจจะกระทบเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค น้ำประปาต่างๆ ด้วย เนื่องจากน้ำจากเขื่อนต้นมีจำกัด อีกส่วนที่ทางศูนย์ฝนหลวงพิเศษเชียงใหม่จะเน้นการปฏิบัติการเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ อันนั้นเป็นมาตรการที่เรากำลังเร่งรัดดำเนินการอยู่ตอนนี้

...


ส่วนการดำเนินการของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมานั้น เท่าที่ได้รับรายงานก็มีฝนตกลงมาอยู่ โดยอ่างลำตะคองดูแลโดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงของ จ.นครราชสีมา ที่ขึ้นปฏิบัติการอยู่ตอนนี้ และประสานกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรีด้วย ฉะนั้นทั้งสองหน่วยนี้จะดูแลพื้นที่ภาคกลางด้านตะวันออก ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จ.สระบุรี จ.ลพบุรี ต่อเนื่องมา จ.นครราชสีมา เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำให้การอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณนี้ด้วย และจากการปฏิบัติของการขึ้นบินประสบความสำเร็จมีฝนตกเป็นระยะๆ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำฝนยังไม่เพียงพอ เนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาฝนน้อยมากเมื่อเทียบกับสถิติที่ผ่านมา ฉะนั้นฝนที่ตกลงมาขณะพื้นดินยังไม่อิ่มตัว และฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่ยังไม่เริ่มไหลลงสู่แม่น้ำลำธารทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขณะนี้ยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ส่วนการขึ้นโปรยสารทำฝนหลวงจะต้องเพิ่มเที่ยวนั้น ขณะนี้เต็มที่ตามสภาพความชื้นที่มีอยู่ ถ้าความชื้นมากเราก็สามารถบินได้หลายเที่ยวและทำให้เกิดฝนบริเวณกว้าง แต่ถ้าวันไหนความชื้นน้อยฝนก็จะเป็นฝนน้อยด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการปฏิบัติการต้องขึ้นอยู่กับตัวเมฆและความชื้นในบรรยากาศเป็นหลัก บางวันอาจจะบินถึง 5 เที่ยวบิน บางวันอาจจะได้แค่ 2 เที่ยวบิน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า เขื่อนลำตะคองอยู่ด้านหลังอุทยานเขาใหญ่ การเพิ่มปฏิบัติการยกเมฆข้ามภูเขาเป็นปฏิบัติการพิเศษที่จะต้องเพิ่มให้ฝนตกในพื้นที่อย่างไร นายวราวุธฯ ตอบว่า อันนี้เป็นเทคนิคพระราชทานพิเศษ เพราะโดยปกติเมฆฝนพอมาเจอภูเขาก็จะเริ่มยกตัวขึ้นแล้วตกเป็นฝนบริเวณหน้าเขา พอข้ามเขามาเมฆก็จะแตกเป็นโดยธรรมชาติ ฉะนั้นสิ่งที่พระราชทานเทคนิคพิเศษคือ เรื่องของการปรับอุณหภูมิด้านหลังของเขาให้เย็น อันนั้นเมฆก็สามารถที่จะค่อยๆ ขยายตัวตกเป็นฝนได้ในพื้นที่หลังเขา แต่ก็ต้องค่อยขยับออกมา ไม่ใช่ว่าจะทำได้ฮวบฮาบทีเดียว เราต้องค่อยๆ ขยับความชื้นเข้ามาให้ข้ามเขามาเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดแล้วก็จะสามารถลงบริเวณที่เป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำตะคองได้ ส่วนตรงนี้เป็นอุปสรรคการที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ตรงนี้เป็นธรรมชาติของพื้นที่อับฝนที่เรารู้จักกัน และมีหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่เป็นจุดอับฝนคืออยู่ด้านหลังของภูเขา โดยบ้านเราจะมีภูเขาตะนาวศรีเป็นตะเข็บขวางตลอดทิศทางลม ฉะนั้นด้านหน้าเขาจะได้รับน้ำฝนดี แต่ด้านหลังเขาจะเป็นพื้นที่อับฝน โดยเฉพาะทางภาคกลางตอนกลางของประเทศ

ส่วนแผนทำฝนหลวงจะมีระยะเวลาเท่าไรนั้น โดยแผนปกติจะถึงประมาณกลางเดือน ต.ค. แต่พอเข้าเดือน ส.ค.จะเข้าสู่แผนการเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำ แต่ปีนี้เราร่นมา เร่งเติมน้ำตั้งแต่ช่วง มิ.ย. – ก.ค. เลย และจะไปสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค. แต่ระยะ 2-3 ปีหลังเนื่องจากความชื้นในอากาศหรือปริมาณน้ำฝนค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นปีฝนน้อย ฉะนั้นเราจะขยายการปฏิบัติการไปถึงเดือน พ.ย. 2558 จนกว่าลมเย็นหรือลมแห้งจากทางจีนไหลมายังภาคเหนือปฏิบัติการไม่ได้แล้วเราถึงจะหยุดปฏิบัติการ นายวราวุธ กล่าว.