เลขาฯ สภาทนายแจงข้อกฎหมาย เกี่ยวกับการ "ขโมยศพ" ที่มีการแก้ไขใหม่ ชี้ถ้าเป็นการแท้ง ยังไม่มีสภาพเป็นบุคคล ถือเป็นซากทารก ไม่ใช่ศพ ส่วนกรณีขโมยขุดกะโหลก ถือว่าทำให้ญาติเสียหาย เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใหม่...
นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ เผยวันที่ 24 เม.ย. 58 ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตรากฎหมาย เรื่อง แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/3 ความผิดเกี่ยวกับศพ ใจความ ว่า ผู้ใดไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งศพ อัฐิ เถ้าของศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นปัญหาว่า กรณีขโมยศพทารก หรือโรงพยาบาลเคลื่อนย้ายศพมาทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง หรือมีคนขโมยตัดกะโหลกศพ จะเป็นความผิดฐานนี้ หรือมีผิดฐานอื่นด้วยหรือไม่ เห็นว่ากรณีแรกเป็นศพหรือยัง ถ้าเป็นกรณีทารกแท้งตั้งแต่ยังไม่คลอด ยังไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่ง จึงเป็นซากทารก ไม่ใช่ศพ
สอง กรณีเป็นศพ คือบุคคลที่คลอดออกมาอยู่รอดเป็นทารก ต่อมาตาย เมื่อตายแล้วก็เป็นทรัพย์ของทายาท หรือผู้มีสิทธิ์การครอบครองศพ ก็เป็นประเด็นปัญหา คือถ้าศพตายที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลมีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะให้ครอบครองทรัพย์ (ศพ) ไว้ชั่วขณะ เพื่อส่งญาติ หรือรักษาศพไว้เพื่อทางการแพทย์ หรือทำลาย การทำลายศพ โดยโรงพยาบาลก็ต้องได้รับอนุญาต มีกฎหมายรองรับ
"มีประเด็นว่า ถ้าโรงพยาบาลสละการครอบครองนั้น โดยมอบศพไว้ที่วัด เก็บในสุสานเพื่อทำลายเผาทิ้ง แล้วสัปเหร่อเอาไปขาย ถือว่าสัปเหร่อมีความผิด เนื่องจากโรงพยาบาลมีคำสั่งให้เก็บไว้เพื่อทำลายต่อไป ใครจะเอาซากศพไปขายไม่ได้ จะผิดไปจากคำสั่งที่ให้ไว้ คนที่ขโมยศพไปจากที่เก็บก็จะมีความผิดฐานเคลื่อนย้ายศพตาม ป.อาญา มาตรา 199 ได้"
...
ส่วนกรณีขโมยศพเพื่อตัดกะโหลกไป ย่อมทำให้ทายาทมีความเสียใจ ไม่สามารถจัดการศพได้ตามปกติ ถือได้ว่าทำให้เสียหาย ไร้ประโยชน์ ส่วนของศพโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีความผิดครบองค์ประกอบมาตรา 366/3 แน่นอน แต่จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่นั้น ต้องดูว่าขณะเอากะโหลกไม่พิธีกรรมแล้ว มีการหลอกลวงเพื่อเรียกเอาทรัพย์สินไปจากผู้ร่วมพิธี ก็จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือฉ้อโกงประชาชน ตามกฎหมายอาญา หากเข้าร่วมพิธีกรรม แต่เกิดความเชื่อไปเอง แล้วไปซื้อหวยเอง โดยที่เขาไม่ได้หลอกเอาทรัพย์สินก็ไม่เป็นฉ้อโกง
ทั้งนี้ เดิมก่อนมีมาตรา 366/3 นักกฎหมายเคยใช้มาตรา 358 คือ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาใช้กับกรณีขโมยศพ แต่มาตรานี้บัญญัติไว้กว้างๆ ไม่ใช่กฎหมายเฉพาะ และมีโทษน้อยกว่ากฎหมายใหม่ ดังนั้น คดีนี้หากอัยการฟ้องข้อหามาตรา 366/3 แล้ว คงไม่ต้องฟ้องมาตรา 358 อันเป็นบทข้อหาทั่วไปอีก อย่าลืมด้วยว่าความผิดขโมยศพ ยังเป็นความผิดทางแพ่ง ฐานละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้ตาย และอาจมีความผิดตามกฎหมายเฉพาะอื่นๆ อีก.