ว่าวหัวควาย หรือว่าวควาย เป็นว่าวที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างว่าวหลา (จุฬา) กับว่าววงเดือน แต่เปลี่ยนส่วนที่เป็นรูปดวงจันทร์ให้เป็นรูปหัวควายแทน ติดแอกไว้เหนือปีก เพื่อให้เกิดเสียงดังเหมือนเสียงควายร้อง
ว่าวควาย ชาวสตูลรู้จักดี คนทำว่าวควายของสตูลตอนนี้เหลือไม่ถึง 10 คน
หนึ่งในนั้นคือ นายเวียง ตั้งรุ่น อายุ 67 ปี รองประธานชมรมว่าวสตูล หมู่ที่ 2 ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

ลุงเวียงเล่าว่า สมัยก่อนคนสตูลใช้ควายไถนา พอไถนาเสร็จถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็มานั่งเลี้ยงควาย นั่งดูควายกินหญ้า จินตนาการว่าจะทดแทนบุญคุณควายยังไง ได้ความคิดขึ้นมาจะทำว่าวเป็นรูปควาย ลักษณะของว่าวจึงออกมาเป็นเหมือนควายกำลังก้ม ว่าวควายจึงมีเขา มีหู มีจมูก มีเสียง
ควายจะร้องแอ๊ๆเกิดจากแอก อยู่ไม่นิ่ง ส่ายไปมาเหมือนนิสัยปกติของควาย
ว่าวควายเป็นสัญลักษณ์ของการเล่นว่าวในจังหวัดสตูล เป็นที่นิยมของประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ลุงเวียงเริ่มหัดทำว่าวควายตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ทำแบบไม่มีใครสอน เพราะคนสมัยก่อนหวงวิชา
...
“ลุงชอบไปดูคนที่เขาทำ จำแล้วก็จำติดตา พอจะทำก็นั่งหลับตาเห็นภาพลอยมา ถ้าทำแล้วไม่ขึ้นก็ทำใหม่ ทำมาเรื่อยๆ ทำเป็นอาชีพ
ว่าวควาย 1 ตัวใช้เวลาทำ 1 วัน ทำได้แค่วันละตัว ปีนี้ทำไม่ทัน เพราะคนสั่งเยอะ”

ลุงเวียงบอกว่า ตัวว่าวควายทำจากไม้ไผ่สีสุกเท่านั้น ไม้ไผ่สีสุกมีสปริง อยู่ใกล้น้ำไม่ได้ จะอ่อน ไม้ไผ่มีน้ำในตัว เป็นไม้เนื้อหวาน มอดชอบ ต้องเอาไม้ไผ่ที่ขึ้นจากดินเหนียว แถวระโนด สงขลา
ไม้ไผ่สีสุกที่สตูลมีเยอะ ส่วนใหญ่อ่อน ใช้ได้น้อยมาก อายุต้อง 5 ปีขึ้นไป แก่เกินก็ไม่ดี อันไหนมอดชอบก็แช่น้ำประมาณ 1 เดือนแล้วเอาขึ้นมาตากแดด
ปีนี้ลุงเวียงเตรียมหาไม้ไผ่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปหาถึงสงขลา ต้องเอาไม้ไผ่มาไว้ข้ามปีเพื่อรอเวลาให้มันเบา ได้มาแล้วก็เอามาวัดแล้วก็ผ่า ความยาวของปีกจะเอาขนาดไหน ที่จำกัดไว้ก็ 1.50 เมตร ต่ำสุด 1.20 เมตร ตัดให้อยู่ระหว่างนั้น
ใช้กระดาษฟาง แต่เดี๋ยวนี้หายากต้องสั่งจากกรุงเทพฯ มีอยู่ร้านเดียวร้านสมใจเครื่องเขียน ข้างโรงเรียนเพาะช่าง
หลักการทำว่าวควาย ปล่อยขึ้นฟ้าไปแล้ว ต้องส่าย ถ้าไม่ส่าย แสดงว่าไม่ใช่ ช่างทำว่าวควายทำได้แต่ไม่ถูกสูตร
ลุงเวียงคุยถึงการแข่งขัน ถึงตอนชักว่าวควาย ปล่อยว่าวไปแล้วเอาเชือกมาผูกหลัก กรรมการถือสมุดให้คะแนน การทรงตัวของว่าวจะต้องเท่ากัน การแกว่งซ้าย ขวา เท่ากันไหม
การแข่งว่าวควายมีหลายประเภท ประเภทความสูงจะมีเกจ์วัด ความสูง 90 องศา แข่งทีละ 3 ตัว ตัวไหนถึง 90 องศาก่อนชนะ

ผลการตัดสิน ลุงเวียงบอกว่า กรรมการจะเขียนให้ใครก็ได้ นี่พูดถึงสมัยก่อนตอนลุงอายุ 40 กว่าปี ตอนนั้นเคยเป็นกรรมการ ลุงรู้วิธีว่าเขาโกงกันยังไง เขาเลยให้ลุงมาปราบคนโกง
ประเภทเสียงดัง เวลาแกว่งเสียงดัง เสียงที่ดังเกิดจากแอก เมื่อก่อนใช้ใบตาล ใบลาน ใบเตย มันขาดง่าย แต่พอเปลี่ยนเป็นแผ่นไมล่าร์คล้ายๆ แผ่นพลาสติก แผ่นไมล่าร์คือแผ่นใช้กันความร้อนเวลาพันมอเตอร์
ลุงเวียงรับราชการ เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสตูล ตั้งแต่ปี 2526 ตอนนี้เกษียณแล้ว ทำว่าวมานานจนได้รับโล่ โล่แรกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี 2547 โล่ที่สองจากสภาวิทยาลัยชุมชนสตูล ประกาศเกียรติคุณสาขาทางด้านวัฒนธรรมผู้มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2554
...
ปีก่อนๆลุงเวียงสอนการทำว่าวที่โรงเรียนสตูลวิทยาเป็นวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ปีนี้ไม่ได้สอน เพราะไม่ว่าง ต้องทำว่าวเพื่อแข่ง
ลุงเวียงทำว่าวเข้าประกวด ปี 2526 จนถึงปี 2528 ยังไม่ได้รางวัล ตอนนั้นยังทำว่าวไม่เข้าสูตร
ถ้วยแรกได้ปี 2535 รางวัล 3 พันบาท ปี 2547 แข่งที่สงขลาได้ถ้วยจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี “ถ้าลงแข่งก็ต้องได้สักถ้วย ถึงไม่ได้ที่หนึ่งรางวัลชมเชยก็ต้องได้ ถ้วยที่บ้านเยอะ” ลุงเวียงว่า

ปีนี้ลุงเวียงทำว่าวควายส่งเกือบทุกประเภท ประเภทความคิดทำแบบไม่ใส่หาง ว่าวทุกตัวต้องทดสอบก่อน
ลุงเวียงอยากจะให้มีคนมารับช่วงต่อยอดการทำว่าวควาย แต่หาคนมาเรียนยาก เพราะทำยาก เหมือนกับสร้างบ้านสักหลัง ถ้าโครงบ้านไม่เป๊ะ บ้านก็จะไม่สวย ว่าวควายก็เหมือนกัน ถ้าโครงว่าวไม่สมบูรณ์แบบ จะไม่ขึ้น ขึ้นไปก็ไม่ดี
ลุงเวียงยินดีสอนให้หมดไม่ปิดบัง สอนให้ฟรี อยากให้เด็กรุ่นหลังทำว่าวเป็น
ปีนี้ลุงตั้งใจจะเอาถ้วยรางวัลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้ได้
มหกรรมว่าวประเพณีและว่าวนานาชาติ จังหวัดสตูล ครั้งที่ 35 เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี จะจัดขึ้นวันที่ 6-8 มีนาคม 2558 ณ สนามบินกองทัพอากาศจังหวัดสตูล ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
...
นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล บอกว่า วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณี และภูมิปัญญาของท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล
ปีนี้ถือเป็นปีมหามงคล จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าปีที่ผ่านมา
รวมเอาชมรมว่าวไทย และคณะนักแสดงว่าวต่างประเทศกว่า 37 ประเทศทั่วโลก การประกวดและแข่งขันว่าวระดับประชาชนใน 8 ประเภท ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
การแข่งขัน 4 ประเภทแรก ประเภทสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ ประเภทขึ้นสูง ประเภทเสียงกังวาน
4 ประเภทต่อมา คือ มาราธอน ว่าวพื้นเมือง (ว่าวควาย) ว่าวยักษ์ และว่าวนักเรียน
ภายในงานมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการสาธิตการทำว่าวไทยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การประกวดว่าวยักษ์ การประกวดประดับตกแต่งขบวนว่าว
ผู้เข้าชมงานยังได้เพลิดเพลินและสนุกสนานกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นเมือง
สีสันของงานที่พลาดไม่ได้ คือ ขบวนแห่ว่าว และขึ้นว่าวสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ขนาดใหญ่ ว่าวยักษ์ 7 ตน พร้อมว่าวจาก 37 ประเทศทั่วโลก และโชว์ว่าวไฟ ในตอนกลางคืน
ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติม และกดไลค์แฟนเพจได้ที่ Facebook มหกรรมว่าวประเพณีและว่าวนานาชาติ จังหวัดสตูล ครั้งที่ 35 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อบจ.สตูล โทร.0-7471-1273
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ขอใช้คำว่า Let it fly...ชวนให้ทุกคนมาเล่นว่าวกัน อะไรที่บินได้ก็ขออนุญาตให้มาบิน.