ศาล ปค.สูงสุด ยกฟ้องคดีมะละกอจีเอ็มโอ ชี้กรมวิชาการเกษตรยุติการทดลองแล้ว ไม่ถือละเลยปฏิบัติหน้าที่ ด้านผอ.กรีนพีซ เชื่อมีฉวยโอกาสใช้คำพิพากษาสร้างความชอบธรรมทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด
วันที่ 21 ต.ค. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ยกฟ้องคดีที่มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (กรีนพีซ เอส อี เอ) ฟ้องกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 กรณีขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่อนุญาตให้ทดลองปลูกมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในภาคสนามหรือในสภาพพื้นที่เปิด และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตรวจสอบสอบมะละกอในแปลงเกษตรกรซ้ำทั้งหมด ทั้งผู้ได้รับการจำหน่าย จ่ายแจก จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และเกษตรที่ได้รับต่ออีกทอดหนึ่ง จากผู้รับจำหน่าย จ่าย แจก และกำหนดมาตรการในการควบคุม แพร่กระจายของมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม ไปสู่แปลงเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวกรีนพีซได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อปี 2549 โดยระบุว่ากรมวิชาการเกษตรและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ละเลยปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ นอกพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นเหตุให้พันธุ์มะละกอดังกล่าวออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร
สำหรับเหตุผลศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในวันนี้ระบุว่า เห็นว่ากรมวิชาการเกษตร มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 1(1) ของกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2545 ในการดำเนินโครงการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดศึกษาทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอ เพื่อการศึกษาวิจัยตามที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้นำเข้า ซึ่งสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 8 พ.ร.บ.กักพืช 2507 โดยไม่ได้เป็นการดำเนินการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ อีกทั้งข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่า กรมวิชาการเกษตรได้ยุติการทดลองมะละกอจีเอ็มโอแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 47 ดังนั้น ที่กรีนพีซอุทธรณ์ให้สั่งกรมวิชาการเกษตร ยุติการทดลองมะละกอจีเอ็มโอในแปลงทดลองแบบเปิดจึงฟังไม่ขึ้น
...
ส่วนกรมวิชาการเกษตรฯ ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินการทดลองมะละกอจีเอ็มโอ ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนและแพร่กระจายสารตัดต่อพันธุกรรมหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอที่เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรๆ ก็ย่อมไม่อาจปฏิเสธผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการครอบครองสิ่งต้องห้าม ที่เป็นวัตถุเสี่ยงภัยของหน่วยงานทางปกครองได้ กรณีดังกล่าวจึงต้องถือว่ากรมวิชาการเกษตรละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการควบคุมการดำเนินการทดลองมะละกอตัดต่อพันธุกรรม และเมื่อพิจารณาว่ากรมวิชาการเกษตรและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดกรณีพบการปนเปื้อน แพร่กระจายสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอเพียงใด
เห็นว่าเมื่อปรากฏข่าวทางสื่อว่าพบการปนเปื้อนดังกล่าว ต่อมาอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ก.ค. 47 ให้หยุดจำหน่าย จ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าพันธุ์มะละกอทุกชนิด และให้ตรวจสอบการจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์มะละกอที่แจกจ่ายไป รวมถึงการตรวจสอบทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอในพื้นที่ต่าง ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว และกรมวิชาการเกษตรได้ยุติการทดลอง ทั้งหมดแล้ว จึงถือว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการตรวจสอบและทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอแล้ว
ด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจำมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอจะหมดไป ตรงกันข้าม กลับพบว่ามีการขยายเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และเชื่อว่ากรมวิชาการเกษตรจะใช้คำพิพากษานี้ไปสร้างความชอบธรรมในการทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดต่อไป