ประเทศไทยกำลังตกอยู่กลางสนามรบของ 2 ยักษ์ใหญ่โลก คือ จีน และสหรัฐฯ!! หลังการส่งตัว “ชาวอุยกูร์” กลับจีนเมื่อวันที่ 27 ก.พ.68
เพราะสหรัฐฯ-พันธมิตร และจีน มีปมขัดแย้งเรื่องอุยกูร์ โดยฝ่ายแรกอ้างว่า การที่จีนปราบอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และจำกัดสิทธิต่างๆ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผิดกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ นำมาซึ่งการ Ban ไม่ซื้อ ไม่ใช้ ไม่ขายสินค้าจากซินเจียง รวมถึง “ฝ้าย”
ทำให้ทันทีที่มีข่าวส่งกลับชาวอุยกูร์ หลายประเทศ “ประณาม” ไทย “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ล่าสุดรัฐสภายุโรป ประณามไทย และเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ใช้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้า (เอฟทีเอ) สหภาพยุโรป-ไทย กดดันให้ไทยปฏิรูปกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพ
ขณะที่ “มาร์โก รูบิโอ” รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมประณาม และจำกัดวีซ่าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ไทย ทั้งๆที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี เพิ่งใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ส่งกลับผู้อพยพที่ลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย โดยไม่ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งก็เสี่ยง “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม วันที่ 18 มี.ค.68 “เหมา หนิง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ชี้ว่า การส่งกลับอุยกูร์เป็น “ความร่วมมือจีน-ไทย” ต่อสู้กับการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย สอดคล้องกับกฎหมายของ 2 ประเทศ สหรัฐฯไม่มีสิทธิ์แทรกแซง...สหรัฐฯ ก็เพิ่งเนรเทศคนเข้าเมืองผิดกฎหมายกว่า 270,000 คน ในปีก่อน
การที่ 2 ยักษ์ใหญ่โลกปะทะกัน ประเทศเล็กๆ อย่างไทยย่อมได้รับผลกระทบ เพราะการส่งตัวอุยกูร์กลับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด (เช่น ไม่ต้องเสียงบประมาณเลี้ยงดู แลกเปลี่ยนผลประโยชน์หลังจีนช่วยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ) รวมถึงการปกป้องไทย อาจทำให้สหรัฐฯมองว่า ไทย “เลือกข้าง” แล้ว
และอาจยิ่งผลักดันให้สหรัฐฯตัดสินใจเร็วขึ้นที่จะใช้มาตรการใดๆกับไทย ทั้ง “มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี” หรือ “มาตรการด้านความมั่นคง” เพื่อต่อรองผลประโยชน์ (จากเดิมที่อาจยังไม่คิดจะใช้มาตรการใดๆ) ซึ่งยังไม่รวมมาตรการที่จะใช้จากสงครามการค้า และลดขาดดุลการค้ากับไทย
...
โดยเฉพาะการนำแรงงานมาเป็นเงื่อนไขกีดกันการค้า และจัดทำ “รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์” (TIP Report) ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯประกาศทุกปีนั้น อาจทำให้สถานะไทยแย่ลง จากที่อยู่ Tier 2 (ประเทศที่มีการดำเนินการที่แสดงถึงความพยายามแก้ปัญหาค้ามนุษย์) มาตั้งแต่ปี 65
รวมทั้งอาจมีสินค้าอื่นๆเข้าไปอยู่ในลิสต์สินค้าเสี่ยงใช้แรงงานบังคับ จากปี 67 ที่สหรัฐฯ เพิ่มปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์เข้าไปแล้ว
แม้กระทรวงพาณิชย์ และเอกชนมองว่า “อุยกูร์” ไม่กระทบเอฟทีเอ และส่งออกไทย เพราะไทยเจรจาได้ และกระบวนการผลิตสินค้าไทย “คุ้มครองแรงงาน” และสอดคล้องมาตรฐานสากล
แต่ต้องจับตารัฐบาลไทยพร้อม “ต่อกร” สหรัฐฯแล้วหรือไม่ และจีนจะเยียวยาไทยหรือไม่ หากสหรัฐฯใช้มาตรการใดๆกับไทยจากเหตุผลการละเมิดสิทธิมนุษยชน!!
ฟันนี่เอส
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม