นับว่าปี พ.ศ.2567 ที่ใกล้จะผ่านไปอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เป็นปี “มหามงคล” อย่างยิ่งสำหรับพวกเราชาวไทย โดย เฉพาะสำหรับพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เพราะได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีสักการะพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็น “องค์แท้” ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ใน 2 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย และ จีน ภายในปีเดียวกัน

สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศได้อนุมัติให้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา

ประเทศแรก ได้แก่ สาธารณรัฐอินเดีย ได้อนุมัติให้รัฐบาลไทยอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ และ พระอรหันตธาตุ มาประดิษฐานชั่วคราว ณ 4 จังหวัดใน 4 ภาคของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์-19 มีนาคม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, อุบลราชธานีและกระบี่ มีพุทธศาสนิกชนชาวไทยและเพื่อนบ้านเข้าร่วมสักการะถึง 4,105,729 คน

สำหรับประเทศที่ 2 ได้แก่ สาธารณรัฐ ประชาชนจีน ที่ตามประวัติ ได้มี พระภิกษุจีนฟาเหียน เดินทางจารึกแสวงบุญจากจีนสู่อินเดีย เมื่อ พ.ศ.942 พร้อมอัญเชิญ “พระเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระทันตธาตุ” ของพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้ในประเทศจีน และมีการเคลื่อนย้ายที่ประดิษฐานจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งหลายครั้ง ก่อนจะมีการนำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดหลิงกวง แห่งมหานครปักกิ่งในที่สุด

พุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างทราบดีว่า พระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่เป็นพระทนต์ หรือ “พระเขี้ยวแก้ว” นั้น มีหลักฐานชัดเจนว่า มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีโอกาสอัญเชิญไปสักการะบูชาอย่างถาวรในปัจจุบันนี้

...

หนึ่ง ก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ประดิษฐานไว้ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ดังกล่าว และ สอง ได้แก่ประเทศศรีลังกา ซึ่งมีพระเขี้ยวแก้วอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดศรีทัลฒามัลลิกาวิหาร แห่งเมืองกัณฏิ

เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยอย่างยิ่ง ที่หนึ่งในสองของ “พระเขี้ยวแก้ว” ที่มีอยู่ในโลกนี้ ได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐานชั่วคราวให้ชาวไทยเรามีโอกาสสักการะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม หรือ วันพ่อแห่งชาติ เป็นต้นมา

ได้แก่ “พระเขี้ยวแก้ว” ของ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการอัญเชิญและมีพิธีแห่ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติโดยรัฐบาลไทย ก่อนนำไปประดิษฐานชั่วคราว ณ มณฑปชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง ในขณะนี้

พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวงองค์นี้ เคยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้อัญเชิญมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2545 ณ หอสมุดพระพุทธศาสนา มหาสิรินาถ ในบริเวณพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนม พรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545

บัดนี้ พระเขี้ยวแก้ว พระบรมสารีริกธาตุ จาก วัดหลิงกวง ก็ได้มีโอกาสเสด็จมาสู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง และจะประดิษฐานอยู่ ณ ท้องสนามหลวง ไปจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568

นับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมเป็นต้นมา มีพุทธศาสนิกชนชาวไทยเดินทางไปสักการะด้วยการเวียนเทียนอย่างเนืองแน่น

เมื่อพี่น้องประชาชนเดินทางไปถึงมณฑลพิธีอันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว จะต้องผ่านระบบการคัดกรองอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัย และการปกป้ององค์พระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

ทีมงานซอกแซกที่มีโอกาสไปสักการะมาแล้ว ขอให้แจ้งยํ้าว่าพี่น้องประชาชนจะต้อง นำบัตรประชาชน ติดตัวไปด้วย เพราะในการคัดกรองจำเป็นต้องใช้บัตรประชาชน

อย่างไรก็ดี ทีมงานซอกแซกรายงานด้วยว่าผู้ที่มีบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต  (สำหรับ นักท่องเที่ยว) จะสะดวกมาก  เจ้าหน้าที่จะขอสแกนเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น จากนั้นก็จะได้รับโปสต์การ์ดภาพ “พระเขี้ยวแก้ว” พร้อมบทสวดมนต์ระหว่างเวียนสักการะ และดอกไม้สำหรับประนมมือบูชาด้วย 1 ดอก...

จะเดินทางไปในช่วงเวลาใดก็ได้ระหว่าง 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มของแต่ละวัน แต่ช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือตั้งแต่ 5 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม ซึ่งเริ่มแดดร่มลมตก มีการเปิดไฟสว่างไสว เหมาะสมแก่การถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกอย่างยิ่ง

สามารถบันทึกภาพ “มณฑป” ที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งมีวัดพระแก้วและพระบรมมหา ราชวังอันสวยงามยิ่งอยู่ด้านหลัง ไว้เป็นที่ระลึก อันทรงคุณค่าไปชั่วชีวิต

หรือจะบันทึกภาพกับ “แบ็กดร็อป” ที่เขียนข้อความเกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้วตลอดจนการประดับประดาด้วยไม้ดอกไม้ประดับอันงดงามไว้ด้วยก็จะเป็นอีกหนึ่งบันทึกของความทรงจำ

ขอยํ้าอีกครั้งหนึ่งว่า “พระเขี้ยวแก้ว” จะประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวง จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ยังมีเวลาอีก 68 วันครับ

จะว่ายังอีกนานก็นานอยู่ แต่ถ้าจะบอกว่าอีกแป๊บเดียวเอง เผลอหน่อยเดียวอาจจะพลาดโอกาสก็ได้เช่นเดียวกัน...จัดสรรเวลาเพื่อไปร่วมรับมหาสิริมงคลแก่ชีวิตในครั้งนี้ให้ลงตัวก็แล้วกันนะครับท่านผู้อ่านที่เคารพ.


“ซูม”

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม