"ตั้ม อานนท์" ซอมเมอลิเยร์อายุน้อยที่สุดในเอเชีย เผยหลักเกณฑ์ให้คะแนนการประกวด "เหล้าขาวไทย" ยกระดับสุราของไทยให้ก้าวไปสู่เวทีระดับโลก ตัวช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ "ไทยรัฐ" ผนึกกำลังกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน "เมรัยไทยแลนด์" มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศครั้งแรก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้สู่คนตัวเล็ก เพื่อยกระดับความคราฟต์ของชุมชนถึงวันที่ 3 ธันวาคมนี้

โดยวันนี้ได้มีการพูดเสวนาเกี่ยวกับการจัดประกวดสุราชุมชนว่าอะไรคือมาตรฐาน หรือสิ่งสำคัญต่อการยกระดับสุราของไทยให้ก้าวไปสู่เวทีระดับโลก

คุณตั้ม อานนท์ มั่นคง Certified whiskey council Scotland, Awarded as The youngest Whisky Sommelier in Asia กล่าวว่า ทางฝั่งวิสกี้มีการผลักดัน จัดตั้งสมาคมฯ กว่า 200 ปีแล้ว ซึ่งในทุกปีจะมีการจัดประกวดเพื่อประเมินคุณภาพ ซึ่งในไทยยังไม่มีจุดนั้น

ถามว่าในการประกวดเหล้าขาวของไทยจะต้องส่งเสริมในจุดไหน ตนมองว่า เริ่มแรกเราสามารถใช้เกณฑ์การให้คะแนนของทางฝั่งวิสกี้เบื้องต้นก่อน ซึ่งในฝั่งของวิสกี้จะดูเรื่องรสชาติที่ค้างในปาก กลิ่นจากไม้โอ๊ก แต่ในเหล้าขาวจะไม่เหมือนกัน จากนั้นจึงต้องปรับให้ตรงกับเหล้าขาว

งานเมรัยไทยแลนด์ จัดประกวดสุราชุมชนอย่างเป็นมาตรฐานขึ้นครั้งแรกในไทย

คุณตั้ม อานนท์ กล่าวว่า การประกวดเหล้าขาวครั้งแรกของไทย ในงานเมรัยไทยแลนด์จะมีส่วนช่วยส่งเสริมชุมชนอย่างไรนั้น ตนมองว่าจะทำให้ฐานลูกค้าต่างชาติเข้าใจหลักเกณฑ์ พอเราจัดตั้งมาตรฐานในระดับโลกแล้ว ทางผู้ประกอบการเองก็จะเข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตจะใช้ความรู้พื้นบ้าน ซึ่งความรู้พื้นบ้านอย่างเดียวจะไม่สามารถผลักดันได้ 100%

...

เมื่อถามว่า การนำมาตรฐานมาใช้กับเหล้าขาวจะทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ของสุราพื้นบ้านหรือไม่ คุณตั้ม อานนท์ กล่าวว่า ทางฝั่งวิสกี้เอง ทางสมาคมฯ จะไม่ค่อยไปยุ่งกับคาแรคเตอร์ของแต่ละโรงกลั่น แต่จะให้คะแนนในเรื่องของการกลั่นว่าได้มาตรฐานไหม มีแอลกอฮอล์เหลืออยู่แค่ไหน เช่นเดียวกับสุราไทยจะดูในเรื่องของมาตรฐานว่ามีการทำลายแอลกอฮอล์ให้เหลือแค่ไหน

เกณฑ์การให้คะแนนการประกวดเหล้าขาว

สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนในการประกวด "เหล้าขาว" จะแบ่งเป็น 2 เรื่อง ในฝั่งของการประกวดวิสกี้จะมีการเชิญนักชิมมาเป็น 100 คน ซึ่งส่วนสำคัญคืออาฟเตอร์เทสต์ ดูว่ามีรสชาติค้างอยู่แค่ไหน นั่นหมายถึงความสามารถในการกลั่นของคนทำ แต่ในเหล้าไทยจะใช้การดมว่ามีกลิ่นของวัตถุดิบที่นำมาใช้และดูว่ามีกลิ่นไม่พึงประสงค์หลงเหลือมากแค่ไหน ส่วนรสชาติ อยากให้กรรมการแต่ละท่านให้คะแนนเอง เพราะเป็นความชอบส่วนตัว

ถามว่าในการประกวดเหล้าขาวของไทย ทำไมต้องเชิญซอมเมอลิเยร์จากหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นวิสกี้ ไวน์ เบียร์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณตั้ม อานนท์ กล่าวว่า เหตุผลหลักๆ คือเรายังไม่มี "ซอมเมอลิเยร์เหล้าขาว" ในเมืองไทยเลย เกณฑ์การให้คะแนนก็ยังไม่มี เราจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญของแต่ละด้านมาร่วมกันให้คะแนน ช่วยกันแบ่งความรู้เพื่อช่วยกันสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับเหล้าขาว

คุณตั้ม อานนท์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการให้คะแนน กรรมการทุกท่านจะใช้แก้วสำหรับชิมแอลกอฮอล์โดยเฉพาะ แต่ละอย่างจะใช้แก้วไม่ซ้ำกัน เพื่อไม่ให้เหล้าจากแก้วก่อนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และจะไม่มีการบอกว่าเป็นเหล้าสลากอะไร เมื่อเริ่มชิมแล้วกรรมการจะห้ามพูดอะไรทั้งสิ้น เพราะคำพูดจะทำให้เกิดการชี้นำได้

การประกวดในครั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมยังได้รับคำแนะนำกลับไปด้วย เพราะกรรมการจะให้คะแนนในเชิงภาพรวม เป็นการให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ประกอบการนำกลับไปพัฒนาได้

คุณตั้ม อานนท์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำให้ตนมาเป็นซอมเมอลิเยร์ เพราะในวัยเด็กมีภาพจำว่าคนดื่มวิสกี้แล้วเท่จัง พอโตขึ้นแล้วมีโอกาสมาจุดนี้ก็เกิดคำถามว่า ทำไมเหล้าขาวไทยไม่มีภาพลักษณ์แบบนั้นบ้าง ซึ่งเกาหลีเองก็มีโชจู เป็นที่รู้จัก แล้วเมื่อไร "เหล้าขาวไทย" จะมีโอกาสในจุดนั้นบ้าง อยากฝากเหล้าขาวไทยมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วย