ศัพท์ที่ 46 ในหนังสือ อักษรศัพท์พินิจฉัย (สถาพรบุ๊คส์ พิมพ์ พ.ศ.2567) อาจารย์ ปรัชญา ปานเกตุ ตั้งชื่อว่า “ของหายาก” ครับ ผมขออนุญาต เปลี่ยนให้เข้ากับเรื่องที่กำลังเป็นกระแสว่า “พระหายาก”

“ยาก” หมายถึงลำบาก เช่น พูดยาก

“ยาก” หนึ่ง หมายถึงไม่สะดวก เช่นไปยาก มายาก “ยาก” หมายถึงไม่ง่าย ตอบยาก ทำยาก “ยาก” หนึ่ง หมายถึงจน เช่นคนยาก “ยากจน” หมายถึงเข็ญใจ ไร้ทรัพย์

วรรณคดีบางเรื่องใช้ “ทลิท” หมายถึง ยากจน ดังตัวอย่าง จากมหาชาติกลอนเทศน์ กัณฑ์ชูชก “พราหมณ์พฤฒาเฒ่าทลิทยากยิ่งยาจก”

วรรณคดีบางเรื่องใช้ “ทุคตะ” หมายถึงยากจน เข็ญใจ ดังตัวอย่าง (ชิดก๊กไซฮั่น) “อุ้นก้ายได้ฟังแล้วแค้นเคืองนัก จึงว่าคนทุคตะมีวาสนาขึ้นทำจองหอง เอ็งจงเร่งไปบอกว่าเราจะเข้าไป

“ยากยับ” หมายถึงลำบาก แสนสาหัส เช่นในเสภาขุนช้างขุนแผน “ชั้นข้าหลวงก็จะล่วงมาบังคับ จะยากยับเจ็บเหมือนตกเหว”

และในพระราชปรารภ เรื่องพระพุทธชินราช “แลพระพุทธชินสีห์ซึ่งเชิญมาแต่ก่อน ก็ไม่เป็นที่ชอบใจของชาวเมืองพิศณุโลกเป็นอันมาก (...) แลแต่นั้นมา ฝนก็แล้งไปถึง 3 ปี ชาวเมืองพิศณุโลก ได้ความยากยับไปเป็นอันมาก...”

“ได้ยาก” หมายถึงลำบาก ตัวอย่างจากสุภาษิตสอนหญิง “เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา”

“เพื่อนยาก” เหมือนถึงเพื่อนร่วมทุกข์ยาก “ยุ่งยาก” หมายถึงสลับซับซ้อนสางออกยาก “สอนยาก” หมายถึงดื้อดึง มักใช้คู่กับคำ “ว่ายาก” เป็น “ว่ายากสอนยาก”

...

สำนวน “รู้มากยากนาน” หมายถึงรู้มากเกินไปจนทำให้ยุ่งยากใจ มักพูดเข้าคู่กับ “รู้น้อยพลอยรำคาญ” เป็น “รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ”

สำนวน “หาทำยายาก” หมายถึงหาได้ยากเพราะไม่ค่อยมี

ต่อไปนี้เป็นเรื่องพระหายาก

สมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เคยตรัสกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า สมัยหนุ่มท่านคิดจะสึก ดำริแล้วจึงกราบทูลลาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงฟังแล้วก็นิ่งอยู่ มิได้ตรัสว่ากระไร ฝ่ายสมเด็จผู้คิดจะสึกเมื่อกราบทูลแล้วก็ไปหาฤกษ์ลาสิกขา กับให้โยมไปเตรียมผ้านุ่งมาไว้ผืนหนึ่ง เสื้อราชปะแตนตัวหนึ่ง อีกสองวันจะสึก

เย็นวันหนึ่ง ก่อนจะถึงฤกษ์สึก รัชกาลที่ 5 เสด็จมาทรงเยี่ยมสมเด็จพระมหาสมณเจ้าแล้วลงจากตำหนักมาที่กุฏิท่าน เสด็จมาถึงก็ทรงยืนอยู่หน้าประตูกุฏิ มิได้เสด็จเข้าข้างใน

สมเด็จว่า พอเห็นรัชกาลที่ 5 เสด็จมาที่กุฏิ ก็ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะแต่ก่อนมาไม่เคยเสด็จ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็นั่งรับเสด็จอยู่ในกุฏินั้น จะเชิญเสด็จเข้าข้างในก็พูดไม่ถูก

รัชกาลที่ 5 รับสั่งว่า “ได้ยินว่า คุณจะสึกหรือ?” สมเด็จก็ถวายพระพรรับว่าจริง

มีกระแสรับสั่งต่อไปว่า “ฉันไม่ว่าอะไรหรอก แต่อยากบอกให้รู้ว่า คนอย่างคุณนั้นบวชเป็นพระแล้วหายาก ถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสก็หาง่าย”

“กันก็เลยไม่สึก” สมเด็จตรัสกับคุณชาย

“ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านต้องรู้ดีกว่าเราว่าอะไรหายากอะไรหาง่าย”

แล้วยังไง คุณชายถาม “กันอยากเป็นคนหายากว่ะ”

ให้เนื้อหาสาระศัพท์ “ยาก” จุใจแล้ว อาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ จบด้วยการเล่าเรื่อง “ตบมุก” เรียกยิ้ม

“ป๊าให้พระมาละ” หมีหนึ่งพูดอวดหมีสอง “รุ่นนี้หายากมั้ย” หมีสองสงสัย “ถ้าหายก็หายากอยู่นะ!”.


กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม