ชีวิตหลังเกษียณ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือการไม่มี "เงิน" พอใช้จ่ายไปจนถึงวันตาย หลายปีมาแล้ว รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดข้อมูลผลสำรวจสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 3.1 ล้านคน จากนายจ้างกว่า 17,000 บริษัท

พบว่า...กว่า 50% มีเงินก้อนในวันเกษียณอายุ ไม่ถึง 1 ล้านบาท เช่นเดียวกับข้อมูลของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ที่มีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน ก็มีเงินออมไม่ถึง 1 ล้านบาทหลังเกษียณ

ข้อมูลวิจัยของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า หากต้องการมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอหลังเกษียณ จะต้องมีเงินออมอย่างน้อย 2.1-3.3 ล้านบาท แต่ปัญหาก็คือสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องเกษียณอายุ จึงยังไม่ได้วางแผนการเงิน

ตอกย้ำปัญหาชีวิตหลังเกษียณ...มีความท้าทายที่ต้องเผชิญหลายมิติ ซึ่งต้องยอมรับความจริงที่ว่า...“การเกษียณอายุ” เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต เป็นช่วงเวลาที่หลายคนหวังจะได้พักผ่อน แต่ในความเป็นจริง ชีวิตหลังเกษียณมักมาพร้อมกับปัญหาและความท้าทายที่หลากหลาย

นับตั้งแต่...ด้านการเงิน สุขภาพจิต สังคม ไปจนถึงการค้นหา ความหมายในชีวิต

หนึ่ง...มิติด้านการเงิน คือความกังวลที่ใหญ่ที่สุด ด้วยปัญหาการขาดรายได้ประจำ, เงินเก็บไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในระยะยาว, ภาระหนี้สินที่ยังคงอยู่

แนวทางแก้ไข คุณต้องวางแผนการเงินล่วงหน้า เช่น การลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณ, ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและสร้างรายได้เสริม เช่น การขายสินค้าหรือให้คำปรึกษาในด้านที่เชี่ยวชาญ

...

สอง...มิติสุขภาพ การจัดการร่างกายและจิตใจ ด้วยต้องเผชิญปัญหา...โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคข้อกระดูก, สุขภาพจิตที่เสื่อมถอยจากความเหงาและการขาดกิจกรรม

แนวทางแก้ไข ตรวจสุขภาพประจำปีและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, รักษาสมดุลด้านจิตใจผ่านกิจกรรมที่สร้างความสุข เช่น งานอดิเรก หรือการฝึกสมาธิ

สาม...มิติด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ จากปัญหาการสูญเสียบทบาทในสังคมและครอบครัว, การลดลงของวงสังคมและเพื่อนฝูง

แนวทางแก้ไข...ควรเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมหรือชมรมที่สนใจ, ใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงกับคนรอบข้าง , สร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับครอบครัว

สี่...มิติด้านจิตวิญญาณ : การค้นหาความหมายใหม่ในชีวิต จากปัญหาการขาดเป้าหมายและความรู้สึกว่าชีวิตขาดคุณค่า, การไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้

แนะนำแนวทางแก้ไขด้วยการลองสิ่งใหม่ๆ เช่น การเรียนรู้ทักษะใหม่ หรือเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ, ทำงานอาสาสมัครหรือช่วยเหลือชุมชน, พัฒนาความเข้าใจในตัวเองและสร้างความสุขจากภายใน

ถึงตรงนี้...บทสรุปสำคัญที่ว่านี้ก็คือ “เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาส”

“การเผชิญกับมิติปัญหาหลังเกษียณไม่ได้หมายความถึงจุดสิ้นสุด แต่คือโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ การเตรียมตัวล่วงหน้าและการเปิดใจเรียนรู้จะช่วยให้เราสามารถสร้างชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคง มีความสุข และเปี่ยมด้วยคุณค่า”

ผู้มีประสบการณ์ “สว.”... “สูงวัย” แนะนำการออกแบบชีวิตหลังเกษียณ ให้พุ่งเป้าไปที่การเริ่มต้นใหม่ที่มั่นคงและมีความสุข

ย้ำว่า...ชีวิตหลังเกษียณเป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอย แต่ก็อาจมาพร้อมความท้าทาย การเตรียมตัวและการวางแผนอย่างรอบคอบจะช่วยให้ช่วงชีวิตนี้เป็นไปอย่างราบรื่น มีความหมายและสนุกสนาน

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ...การวางแผนการเงิน เพื่อพื้นฐานของความมั่นคง

“การมีเงินเก็บหรือรายได้ที่เพียงพอเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตหลังเกษียณ ประเมินค่าใช้จ่าย...คำนวณรายจ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และกระจายการลงทุน ด้วยการพิจารณาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น กองทุนรวมสำหรับผู้เกษียณ”

จากนั้นก็...สร้าง “รายได้” เพิ่มเติม โดยใช้ความสามารถ เช่น การให้คำปรึกษา ขายสินค้าหรือทำงานพาร์ตไทม์

ถัดมา...ดูแลสุขภาพกายและใจ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คุณเพลิดเพลินกับชีวิตหลังเกษียณ ต้องตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อป้องกันโรคเรื้อรัง ออกกำลังกาย...เดิน วิ่งเบาๆ หรือเล่นโยคะ ส่งเสริมสุขภาพจิต...หลีกเลี่ยงความเหงาและความเครียดโดยการทำกิจกรรมที่คุณรัก เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ หรือเล่นดนตรี

อย่าลืม...บริหารเวลาและค้นหาความหมายในชีวิต ให้ชีวิตหลังเกษียณของเราคือโอกาสในการทำสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่... เดินทางท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เพื่อสร้าง คุณค่าให้ชีวิต

สร้างเครือข่ายสังคม เชื่อมต่อกับคนรุ่นเดียวกัน เข้าร่วมชมรม...กลุ่มกิจกรรม รักษาความสัมพันธ์กับครอบครัวใช้เวลาอยู่กับลูกหลานหรือจัดกิจกรรมร่วมกัน ใช้เทคโนโลยี...เพื่อสื่อสารกับคนที่อยู่ห่างไกล

...

นอกจากนี้ควรที่จะออกแบบบ้านให้เหมาะกับวัย...เน้นความปลอดภัย ความสะดวกสบาย

“การเกษียณอายุไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุด แต่คือการเริ่มต้นบทใหม่ คุณสามารถใช้ช่วงเวลานี้เพื่อลงทุนในตัวเอง ค้นหาความสุขที่แท้จริง และสร้างชีวิตที่คุณต้องการ”

มองอนาคตด้วยใจที่เปิดกว้าง...ชีวิตหลังเกษียณทุกวินาทีเปี่ยมไปด้วยความหมาย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม