จากงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี 68” มหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาสำหรับเด็กพิการจากทั่วประเทศ ครั้งที่ 10 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.มีกลไกของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเชื่อมการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ กับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเพื่อให้โอกาสทางการศึกษา และการจ้างงานคนพิการ เด็กพิการทุกคนมีศักยภาพ และความสามารถเฉพาะตัวที่มีคุณค่า การศึกษาจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกศักยภาพช่วยให้เด็กพิการได้พัฒนาทักษะทั้งวิชาการและอาชีพและพึ่งพาตนเองได้
ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า คนพิการมี 2.2 ล้านคน เป็นวัยแรงงาน 8.6 แสนคน แต่ไม่มีงานทำมากถึง 5.3 แสนคน สะท้อนถึงข้อมูลการศึกษาของคนพิการที่จบประถมศึกษา 94% จบปริญญาตรีหรือสูงกว่าเพียงแค่ 2% แต่ละปีมีเด็กพิการที่เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเพียง 0.7% นับเป็นจำนวนเพียงแค่ 500 คนเท่านั้น อุปสรรคการเรียนต่อมีทั้งฐานะยากจน ข้อจำกัดในการเดินทาง การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร การถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆที่ต้องใช้มีราคาสูง
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.จ้างงานคนพิการเข้ามาทำงาน 400 กว่าคน ยังขาดอีกเพียง 200 คน และมีการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว 21 คน ทุกคนทำงานได้เป็นอย่างดี.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่