"ตัวแทนสภาทนายความ" พาผู้เสียหายกว่า 20 คน ร้องตำรวจ ปอศ. เอาผิด "บริษัทผลิตพลังงานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาด" หลอกลวงให้ลงทุน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายกิตติคุณ แสงหิรัญ ตัวแทนจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อม นางอภันตรี เจริญศักดิ์ อายุ 55 ปี และผู้เสียหายกว่า 20 คน เข้าพบกับพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความเอาผิดบริษัทผลิตพลังงานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาดแห่งหนึ่ง หลอกลวงให้ผู้ลงทุนมีสมาชิกผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 70,000 คน
นางอภันตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2562 ผู้เสียหายส่วนใหญ่ได้รับลิงก์จากบริษัทดังกล่าวเกี่ยวกับการนำเงินเกษียณอายุไปลงทุนต่อยอด จึงได้มีการชักชวนร่วมลงทุนเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาด มีการโฆษณาว่าเครื่องดังกล่าวจะสามารถขายได้ทั้งในและต่างประเทศ หากซื้อหุ้นราคาละ 100 บาท จะได้เงินปันผลใน 50 สัปดาห์ และหลังจากนั้นจะได้เงินปันผลตลอดชีวิต จึงมีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าร่วมลงทุน ซึ่งบริษัทดังกล่าวอ้างว่าเงินปันผลจะถูกหัก 10% เข้าสรรพากรและมีการปันผลกับผู้แนะนำ
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ลงทุนกลุ่มแรกได้เริ่มลงทุนเมื่อเดือน ก.ย. 2562 กลุ่ม 2 เดือน ธ.ค. 2562 - เม.ย. 2563 และกลุ่มที่ 3 เริ่มต้นเมื่อเดือน พ.ค. 2563 และได้ปันผล 3% ใน 30 สัปดาห์ ทำให้ในช่วงระหว่างกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สามผู้เสียหายมีการระดมซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากโดยมีการโอนเงินเข้าธนาคารแห่งหนึ่งสาขารามอินทรา ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท ซึ่งช่วง พ.ค. 2563 โปรแกรมในการลงทุนได้มีการปิดลงเนื่องจากทางรัฐบาลได้มีการยึดทรัพย์
หลังจากนั้น ทางบริษัทได้ให้แอดมินติดต่อกลับผู้เสียหายเพื่อเกลี้ยกล่อมในกลุ่มไลน์ที่มีจำนวนสมาชิก 2,000 คน เพื่อไม่ให้แจ้งความ โดยอ้างว่าถูกภาครัฐกลั่นแกล้งอายัดและปิดบัญชี และยังอ้างอีกว่าจะมีการซื้อหุ้นและเยียวยาคืนแต่ก็ไม่มีจริงจึงได้มีการเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมกับศาลชั้นต้นเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2566 ซึ่งหลังจากนั้นมีการยื่นอุทธรณ์ 5-7 ครั้ง โดยศาลให้บริษัทดังกล่าวนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาแสดงแต่ก็ไม่ได้มีการนำมาจึงยุติไปในช่วงเดือน พ.ค.
...
ทั้งนี้ ตัวเองและผู้เสียหายในวันนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกเยียวยาในกลุ่มแรกจำนวน 299 คน จึงมาขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา
สำหรัยผู้เสียหายชุดหลัง ได้มีการไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจใกล้บ้านแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าอายุความทางคดีนั้นเกิน 90 วันแล้ว จึงทำได้เพียงแค่ลงบันทึกประจำวันไว้ จากนั้นจึงได้มีการรวมตัวกันไปยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งโดยศาลชั้นต้นได้มีการตีตกไป หลังจากนั้นก็ได้มีการยื่นอุทธรณ์ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ
ส่วนกรณีที่ทรัพย์สินที่ทาง ปปง.ได้อายัดไว้มูลค่า 400 ล้านบาท จะตกเป็นของแผ่นดินนั้น ผู้เสียหายที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรกที่ได้รับการเฉลี่ยเงินคืน จะสามารถร้องเรียนได้ในระยะเวลาหนึ่งปีหรือจนกว่าคดีจะสิ้นสุด จึงได้มีการทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดแต่ก็ยังมีการเรียกไปพูดคุยว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ วันนี้จึงต้องมาพึ่งตำรวจ บก.ปอศ. เพราะทราบว่ามีผู้เสียหายประมาณ 60 คนที่ยังมีคดีค้างอยู่ที่ บก.ปอศ. เพื่อนำผู้เสียหายที่มาในวันนี้นั้นไปรวมกับ 60 คนในการดำเนินคดีอาญา คดีนี้เชื่อว่ามีผู้เสียหายมากถึง 70,000 คน แต่หลายคนไม่กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะไม่รู้ช่องทางในการเข้าดำเนินการ
นายกิตติคุณ กล่าวว่า ในส่วนของคดีอาญา จะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผิดข้อหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้เสียหายไปแจ้งความแล้ว 60 คน ซึ่งสภาทนายความได้ประสานอัยการกองเศรษฐกิจและทรัพยากร แต่ปรากฏว่าผ่านมาสามปีเปลี่ยนพนักงานอัยการจนครบวาระแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนผู้เสียหายไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและกระทรวงยุติธรรม รวมถึงเดินทางมาแจ้งความเพิ่มเติมในวันนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ไม่นิ่งนอนใจและจะมีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งผู้เสียหายที่เหลือที่ต้องการได้รับความเป็นธรรม จากกรณีดังกล่าวสามารถติดต่อมาทางสภาทนายความฯ ได้.