แม้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร และการเชื่อมโยงกันของโลก จะทำให้ผู้คนยุคนี้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มาพร้อมความเสี่ยงรูปแบบต่างๆ ได้เช่นกัน ตั้งแต่ข้อมูลเท็จ การบิดเบือน ไปจนถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพเพื่อการล่อลวง เรื่องที่น่าเป็นกังวลใจคือ คนไทยกว่า 60% ยังขาดทักษะด้านดิจิทัลที่อาจทำให้ตกเป็นเหยื่อจากการรู้ไม่เท่าทันสื่อ หรือข้อมูลเท็จต่างๆ บนโลกออนไลน์เหล่านี้ได้ง่าย การขับเคลื่อนระบบนิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อติดอาวุธด้านดิจิทัลให้กับคนไทยและสังคมไทยอย่างยั่งยืนมีความสำคัญอย่างมาก สสส. จึงได้จับมือสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) พร้อมด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับอีกกว่า 30 ภาคี ร่วมหนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยถือเอา “งานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัล 2567” หรือ MIDL Week 2024 เป็นหมุดหมายสำคัญ

ขับเคลื่อนสังคมไทยให้รู้เท่าทันสื่ออย่างยั่งยืน

นพ. พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดเผยใน “งานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัล 2567” หรือ MIDL Week 2024 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “A(m)I Connect ? พลเมืองสื่อ : เชื่อมโยงสู่โลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลง” ว่าการสร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชนไทยทุกกลุ่มเรื่องการรู้เท่าทันสื่อนับเป็นอีกเรื่องจำเป็น และมีผลที่เอื้อต่อการสร้างวิถีสุขภาวะ 4 มิติ ตามแนวทางของ สสส. แม้ปัจจุบันจะมีผลการสำรวจว่า สถานภาพการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและการเข้าใจดิจิทัลของประเทศไทยจะอยู่ในเกณฑ์ระดับดี แต่เมื่อเจาะในเชิงลึกกลับพบว่า มีคนไทยถึงกว่า 60% ที่ต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงวัย ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล พร้อมวางพื้นฐานที่ดีในการรับมือกับความผันผวนของโลกแห่งอนาคต โดย สสส. จับมือกับภาคีอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน หรือ สสย. ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานภายใต้การขับเคลื่อนของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ที่มุ่งมั่นเรื่องการสร้างสุขภาวะทางปัญญา ผ่านความมุ่งหวังอยากเห็นคนไทยแข็งแรง ทั้งทางด้านกาย ใจ สังคม และปัญญา

“งานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2567” หรือ MIDL Week 2024 จึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศความร่วมมือร่วมกัน ไม่เพียง สสส. และ สสย. เท่านั้น แต่ยังได้รับกำลังสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับอีกกว่า 30 ภาคีเครือข่าย ที่พร้อมเดินหน้าร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด และส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกันในงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัล 2567 ช่วงระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ อาคาร KX (Knowledge Exchange for Innovation Center) กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังจะได้ขยายผลจัดกิจกรรมต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่ในหลายภูมิภาคด้วย ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสงขลา ในระหว่างวันที่ 26-31 ตุลาคม 2567 นี้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในภูมิภาคต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ด้วย

คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน หรือ สสย. ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องความรู้เท่าทันสื่อมาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า วันนี้สังคมโลกกำลังเผชิญปัญหาหลากหลาย โดยอีกปัญหาด้านหนึ่งที่ชัดเจนมากขึ้น คือปัญหาที่มาจากการที่เทคโนโลยีเดินทางไปอย่างรวดเร็ว จนนำพาผู้คนเข้าสู่ภาวะโลกผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน เชื่อว่าการเท่าทันสื่อและสารสนเทศ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้เองจึงพยายามผลักดันเรื่อยมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ไม่เพียงผลักดันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังขยายถึงประชาชนกลุ่มอื่นๆ รวมถึงกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความเปราะบางทางดิจิทัลอย่างมากอีกด้วย คุณเข็มพรเชื่อมั่นว่า งานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัล 2567 หรือ MIDL Week 2024 ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มสำคัญให้การทำงานร่วมกัน มีพลังและมีทิศทางมากขึ้น จากเดิมที่แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำงาน การหลอมรวมพลังทางความคิด และองค์ความรู้ต่างๆ ก็จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น ทั้งนี้ในระดับสากลยังมีองค์กรระดับโลกอย่างองค์การยูเนสโก (UNESCO) ร่วมผลักดันอย่างจริงจังอีกแรง

เพื่อการขับเคลื่อนพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ

งานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2567 หรือ MIDL Week 2024 นับได้ว่าเป็นงานมหกรรมการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2024 ที่มีความสำคัญต่อการระดมพลังทางความคิดและส่งต่อแรงบันดาลใจระหว่างกันอย่างมาก นอกจากจะเป็นการรวมตัวกันของภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยังได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ รวมถึงสร้างทักษะเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ผ่านการบรรยาย นวัตกรรม งานวิจัย จากภาคีต่างๆ กว่า 23 ห้องย่อย ผ่านหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เสวนาพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ, คนรุ่นใหม่เปลี่ยนเมือง, สูงวัยเท่าทันสื่อ, รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เป็นต้น โดยมุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเครือข่ายเร่งสื่อสารรณรงค์เรื่องเท่าทันสื่อ และติดอาวุธทางปัญญาแก่ประชาชนให้เป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปต่อยอดได้ อาทิ เผยวิธีตรวจสอบเพจปลอม และสแกมเมอร์, AR WALL พลเมืองคนรุ่นใหม่ใช้สื่อขับเคลื่อนสังคม เป็นต้น

โดยหนึ่งเวทีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่อง “การขับเคลื่อนเรื่องพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ” ยังได้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) คุณโจเซฟ ฮินคส์ (Mr. Joseph Hincks) ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและการสื่อสาร ประจำภูมิภาค (The Media and Communications Specialist in The UNESCO Bangkok Regional Office) ร่วมแสดงทรรศนะผ่านหัวข้อ “พลเมืองโลกในยุคดิจิทัล และการเท่าทันสื่อฯ ในยุคโลกผันผวน” โดยคุณโจเซฟบอกเล่าการทำงานขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ด้านการขับเคลื่อนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อว่า ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพบปะของผู้คนผ่านการสื่อสารออนไลน์ที่มากขึ้นในปัจจุบัน มาพร้อมการเกิดขึ้นข้อมูลเท็จและบิดเบือนมากมายจนสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ หากขาดการเฝ้าระวังที่ดี โดยข้อมูลหลายประเภทยังเป็นข้อมูลที่ส่งผลต่อการดึงอารมณ์ให้คล้อยตาม มากกว่าการบอกข้อเท็จจริง ซึ่งหากถูกใช้โดยผู้ไม่ประสงค์ดี ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นตามมามากมาย วันนี้นอกจากผลักดันเรื่อง MIL หรือการรู้เท่าทันสื่อ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่องค์การยูเนสโกทำอยู่ยังรวมถึงการผลักดันเรื่องจริยธรรมของ AI ที่จำเป็นอย่างมากในยุคที่การทำงานของปัญญาประดิษฐ์เบ่งบาน ทั้งนี้ได้พยายามสร้างระบบนิเวศสื่อ และเข้าไปมีส่วนร่วมกับสถานศึกษามากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากคนรุ่นใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งในโลกยุคผันผวน ร่วมแสดงแนวคิดบนเวที โดยคุณปัณฑ์ณพัชร์ รัตน์บูรณ์พิภพ จาก TEDx Bangkok Youth 2024 แสดงทรรศนะผ่านหัวข้อ “โลกภายนอกและโลกภายใน ของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล” ที่สะท้อนให้เห็นภาวะทางความคิดและอารมณ์ของคนยุคใหม่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นทะลัก คุณปัณฑ์ณพัชร์ เชื่อว่า การย้อนการกลับมาที่ตัวเอง ค้นหาความเป็นตัวเองที่แท้จริง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแข็งแกร่งในตัวเอง เพื่อเชื่อมโยงกับโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนอย่างมีสติ ในขณะที่คุณพลอยธิดา เกตุแก้ว (Chief Climate Content) จากสำนักข่าว Today ซึ่งแสดงทรรศนะผ่านหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการสื่อสาร เพื่อการเท่าทันวิกฤตโลก” เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อและการสื่อสารสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้มากขึ้น

งานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2567 หรือ MIDL Week 2024 นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องพลเมืองรู้เท่าทันสื่อมีทิศทาง และมีพลังมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเดินทางร่วมกันของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อปูทางสู่การสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน