ผมเริ่มงานนักข่าวที่ยะลาปี 2513 ปีนั้น ครูเปาะสู วาแมดิชา ถูกปล่อยตัวมานั่งจิบโกปี้โอกับเพื่อนครูเผียน ที่ร้านน้ำชาโกชุ้น ตลาดสิโรรส ปีต่อๆมา ครูเผียนถูกยิงตาย ครูเปาะสูหนีเข้าป่า
ข่าว ขจก. เริ่มแรงและเริ่มมีข่าว ผกค. มาแจมที่เขาน้ำค้างสงขลา ข่าวโจรจีน (จคม.) ก็แรงตามมา ถึงเทศกาล ทหารก็ตั้งปืนใหญ่ยิงตูมๆ
ทุกครั้งที่นั่งรถโดยสารผ่านบ่อน้ำร้อน กม.7 ก่อนถึงเบตง ผมพอรู้ว่า จคม. เขาแยกเป็นสองพวก พวกฝั่งซ้ายเรียก ต้นไม้ใหญ่ พวกฝั่งขวา เรียกอุโมงค์ ตอนนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
มีช่วงเวลาหนึ่ง ที่สามจังหวัดใต้เริ่มสงบเย็น หลัง ขจก. จคม. และ ผกค. เปลี่ยนเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เที่ยวหนึ่งผมเคยไปถึงหมู่บ้านต้นไม้ใหญ่ เบตง ได้คุยกับ “หมอหลินใต้”
หมอหลินใต้ เกิดปี 2488 ที่ปาหัง มาเลเซีย ตอนเล็กๆ อยู่กับน้า พรรคคอมมิวนิสต์มลายู เลือกตัวไปเรียนวิชาหมอที่จีน หกปีจบ สองปีฝึกงานต่อที่เวียดนาม แล้วถูกส่งมาประจำการที่ค่ายต้นไม้ใหญ่
คนหนุ่มๆในหมู่บ้าน ชื่นชมหมอมาก เคยผ่าตัดสามครั้งฟื้นชีวิตคนริมตายคืน ฝีมือฝังเข็มก็เลิศเลอ จนถูกเรียกหมอเทวดา ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีข่าวใช้วิชาฝังเข็ม
ผมฝังใจเรื่องหมอหลินใต้...มานานหลายปี จนกระทั่งอ่าน ทางอีศาน ฉบับ ก.ย.2567 คอลัมน์ สาส์นจาก ทางอีศาน ปรีดา ข้าวบ่อ เปิดพื้นที่ให้พิรุณ ฉัตรวนิชกุล เขียนคำคารวาลัย ทองแถม นาถจำนงและสหาย ว่าเป็นเพื่อนนักเรียนแพทย์ ที่พรรคคอมมิวนิสต์ส่งไปเรียนที่จีน
แม้ไม่ได้รับใช้ประชาชนในสมรภูมิแนวหน้า แต่ก็ได้กลับมาเป็นแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆทั้งภาครัฐภาคเอกชน
วิชาฝังเข็มและวิชาแพทย์แผนจีนที่แพร่หลายรุ่นต่อรุ่นในไทย เริ่มต้นในสมัยทองแถมนี่เอง
พื้นที่ทางอีศานเดียวกัน ปรีดา ข้าวบ่อ เปิดให้รำลึกถึง ทองแถม ผู้จากไปเมื่อ 1 ส.ค. อาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา เล่าว่า พบปะพูดจากับทองแถมมาราวสิบปีนับครั้งได้ แต่มีอะไรที่ไม่ธรรมดา ทว่าลึกซึ้ง
...
ครั้งหนึ่งทองแถมชวนอาจารย์กับคู่ชีวิตไปทานข้าวเย็น ขึ้นรถไฟฟ้า ต่อรถเมล์ที่ยืนรอนาน เดินไปอีกไกล กว่าจะถึงร้านอาหาร อาจารย์เหนื่อย แต่ทองแถมร่าเริงมากในหมู่มิตรสหาย ศิลปินแห่งชาติ แกนนำพันธมิตร นักเขียน กวี
อาจารย์ชลธิรานั่งกับกลุ่มผู้หญิงที่ไม่รู้จัก นานโขทองแถมโซเซย้อนมา ซุ่มเสียงอ้อแอ้ ชี้ที่ตัวเอง แล้วบอกอาจารย์ “ผมนี่ไง หมอโชติ อาจารย์จำไม่ได้หรือ?”
“ผมแวะเวียนไปเฝ้าไข้อาจารย์ ซักถามเรื่องโน่นนี่ คุยกับอาจารย์หลังผ่าตัด คงชวนคุยมากไป เลือดไหลไม่หยุด จนอาจารย์เกือบเอาชีวิตไม่รอด ที่โรงพยาบาล R3 นั่นไง จำไม่ได้หรือครับ ...ผมยังต้องใช้คืนหนี้อาจารย์นะ”
อาจารย์ชลธิราสารภาพ ใช่เลย จำไม่ได้ใครเป็นใคร นอกจากหมอสองคนที่ผ่าตัดทอนซิลให้ตอนอยู่ป่า หลังหมอป้อมกับหมอรุ่งผ่าตัดสามวัน เกิดช็อกเลือดไหลไม่หยุดต้องกู้ชีพกะทันหัน
ต้นเหตุเรื่องนี้ มาจากได้เลือดที่ช่วยชีวิตฉุกเฉินจากคนบริจาคที่เป็นโรคตับอักเสบ
ฟื้นความหลังครั้งอยู่ป่ากันไม่นาน ทองแถม นาถจำนง เสนอตัวเป็น บก.ให้หนังสือ ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท ของชลธิรา สัตยาวัฒนา อาจารย์ชื่นชมว่า เป็นผลงานบรรณาธิการกิจ ที่ประณีต ทำให้แบบมืออาชีพ
อาจารย์ชลธิราทิ้งท้ายข้อเขียนนี้ว่า...
กล่าวในบริบทของปราชญ์ฝ่ายประชาชน ทองแถม นาถจำนง สมควรที่จะได้รับเกียรตินั้น ต่อจากจิตร ภูมิศักดิ์ แม้ด้วยท่าที ลีลา และทาง ต่างกัน
เมื่อถึงจุดสุดท้ายของชีวิต สิ่งที่ได้ทำได้สร้างสรรค์ไว้ชั่วชีวิต จะเป็นมาตรวัดตัวตน แห่งความเป็นคนผู้นั้น ว่าสูงค่าเพียงใด.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม