ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็น “Pride Month 2024” เดือนแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศที่ยิ่งใหญ่ มีกิจกรรมมากมายที่สร้างสีสัน ความบันเทิง เช่น การเดินขบวนพาเหรด การแต่งตัว นิทรรศการศิลปะ การแสดงคอนเสิร์ต และการประชุมและสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ

งานยิ่งใหญ่ที่รับรู้กันไปทั่วประเทศ คืองาน Bangkok Pride Festival 2024 รวมทั้งมีจัดขึ้นในอีกหลายจังหวัด อาทิ งาน Colorful Pride Festival เชียงใหม่, Chiang Mai Pride Rainbow City เชียงใหม่, Pattaya Community Pride 2024, Pattaya International Pride Festival 2024 พัทยา, Discover Phuket PRIDE 2024 ภูเก็ต, Phuket Pride ป่าตอง 2024, Pride Nation Samui International Festival เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี และ Pride For All 2024 โคราช

ทุกๆ งานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เห็นได้จากมีนักการเมืองมากมายเข้าร่วมกิจกรรม ขณะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.. ได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2567 ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่เปิดกว้างให้คู่รักหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการลดช่องว่างของความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

...

เป้าหมายของประเทศไทย ต้องการประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ว่าเป็นประเทศที่เปิดรับความหลากหลาย เท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ศาสนา สัญชาติ หรือสถานะทางสังคม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกในฐานะศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub) และดันไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยว Pride Friendly ระดับโลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ชื่นชอบการเดินทาง และมีระยะเวลาพำนักยาวกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป

ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เป็นตัวแทนประเทศไทยในการจัดทำข้อเสนอเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride 2030 ในปี 2573 ที่ประเทศไทย ซึ่งจะต้องมีการแข่งขันกันกับประเทศต่างๆ

“จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้จัดทำแคมเปญ “Road to WorldPride” เพื่อเตรียมเสนอประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ WorldPride 2030 มีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนไพรด์ของไทย และเชื่อมโยงกับเครือข่ายไพรด์ระดับโลก ถ้าไทยสามารถคว้าการจัดงานนี้มาได้จะมีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศนับล้านคนที่เดินทางมาไทย โดยระยะเวลาการจัดงานอยู่ในช่วง 4 สัปดาห์ หรือสามารถจัดกิจกรรมหลายเดือน หรือตลอดทั้งปีเลยก็ได้ จะทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศไทยมากมายและสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย

“มีการคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจว่าศักยภาพที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่ม LGBTQ+ จะช่วยเพิ่มจีดีพีของไทยได้สูงถึง 700,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการท่องเที่ยวทั่วโลกของคนกลุ่มนี้มีมูลค่าประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง”

แต่สิ่งสำคัญของการไปเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพ WorldPride 2030 ประเทศไทยต้องทำให้เห็นว่าเรามีความเคลื่อนไหว มีกิจกรรมและมีการยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง มีการปฏิรูปทางกฎหมาย การเพิ่มอำนาจให้กับชุมชน LGBTQ+ และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

พร้อมกันนี้ ทีเส็บได้สนับสนุนการเสนอตัวให้ไทยเป็นเจ้าภาพ InterPride World Conference 2025 เพื่อเป็นก้าวแรกก่อนซึ่งจากการคัดเลือก 3 จังหวัดที่เสนอตัวเข้ามา ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ปรากฏว่าภูเก็ตได้รับการโหวตให้เป็นผู้แทนในการจัดงาน ซึ่งจะต้องไปแข่งกับประเทศอื่นๆอีก โดยงานนี้จะตัดสินว่าประเทศใดได้เป็นเจ้าภาพที่ประเทศโคลอมเบียในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

...

“สมพล สิทธิเวช หรือ วิกกี้” รองประธานกลุ่มอันดามันพาวเวอร์ ภูเก็ต ผู้ร่วมก่อตั้งและจัดงาน Phuket Pride และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ในการผลักดันให้ภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน InterPride World Conference 2025 เปิดเผยว่า งานนี้แสดงถึงความร่วมมืออันเข้มแข็งของชุมชน LGBTQ+ ของไทยเพราะการเสนอตัวต้องเป็นในนามองค์กรชุมชน โดยมีทีเส็บเป็นผู้สนับสนุนหาข้อมูลในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมสนับสนุน และให้ความร่วมมืออย่างชัดเจน ถือเป็นมิติใหม่จริงๆ

“ขั้นตอนจากนี้ทางชุมชนได้ร่วมประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการ InterPride เพื่อให้เห็นว่าภูเก็ตมีความพร้อม เช่น มีสนามบินนานาชาติ มีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ ภาครัฐสนับสนุน 100% เป็นเมืองที่เปิดกว้าง ต้อนรับความหลากหลายทางเพศ ถ้าภูเก็ตสามารถแข่งขันชนะเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ได้ จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับภูเก็ตอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และเป็นการสนับสนุนชุมชนความหลากหลายทางเพศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น สำคัญที่สุดคือ เป็นประกาศนียบัตรให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ที่เป็นงานใหญ่ที่สุดด้วย”.

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม