เมื่อวันเสาร์ที่แล้วนี่เอง ผมเขียนแนะนำไว้สั้นๆในคอลัมน์วันเสาร์ของผมว่า ระหว่างวันที่ 6–7 กันยายนที่จะถึงนี้จะมีการสัมมนาใหญ่เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ของ “ราชบัณฑิตยสภา” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการ “ปรับตัวรับมือโลกร้อน” ที่ผู้คนกำลังฮิตกันอยู่ทั่วโลก
หลังตีพิมพ์ออกไปแล้วก็มีท่านผู้อ่านโทรศัพท์มาถามผมว่าปกติ “ราชบัณฑิตยสภา” หรือ “ราชบัณฑิตยสถาน” มีหน้าที่ในการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยมิใช่หรือ?
เหตุไฉนจึงมาจัดประชุมสัมมนาในเรื่องที่เกี่ยวกับ “ภาวะโลกร้อน” กับเขาด้วยล่ะ
ซึ่งผมก็ได้ตอบข้อสงสัยของท่านผู้อ่านท่านนี้ไปแล้ว...แต่เมื่อมานั่งคิดดูอีกครั้ง...ก็มีความเห็นว่านำมาเขียนบอกกล่าวในคอลัมน์เสียด้วยเลยจะดีกว่า เพราะอาจจะมีท่านผู้อ่านอื่นๆสงสัยในทำนองเดียวกันนี้อยู่บ้างก็ได้
คำตอบที่ผมตอบท่านผู้อ่านที่แสดงความสงสัย โดยสรุปๆก็คือ “ราชบัณฑิตยสภา” ซึ่งจัดตั้งเป็นครั้งแรกโดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นั้นมีพระราชดำริที่จะให้สถาบันแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับ “บำรุงสรรพวิชา” คือการค้นคว้าการวิจัย การศึกษาหาความรู้ การแลกเปลี่ยน และเผยแพร่ความรู้ในสรรพวิชาต่างๆ ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
“ราชบัณฑิต” ที่เข้ามาอยู่ในสภาของพระองค์ท่าน จึงประกอบด้วยผู้ทรงความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อการบำรุงสรรพวิชาแล้วเผยแพร่สู่ประชาชนดังที่มีพระราชดำริไว้
แต่คงเป็นด้วยผลงานที่โดดเด่นของสภาแห่งราชบัณฑิตชุดนี้ ได้แก่ การจัดทำ “พจนานุกรม” ที่เรียกกันว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน...คนไทยรุ่นหลังๆ ก็เลยนึกว่าสภาแห่งนี้เก่งและจัดทำเฉพาะเรื่องพจนานุกรมเท่านั้น
...
แท้ที่จริงแล้วมีการศึกษาหาความรู้หลายด้านครบทุกศาสตร์นั่นแหละครับ...ไม่ว่าเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, วิทยาศาสตร์, ประวัติศาสตร์, อักษรศาสตร์ และศิลปหัตถกรรมต่างๆ
รวมทั้งการศึกษาผลกระทบทางด้านโลกร้อน ซึ่งทราบว่ามีการศึกษาอย่างละเอียดครบถ้วนทุกด้าน รวมทั้งผลกระทบทางด้านสังคมด้วย เข้าทำนอง “บำรุงสรรพวิชา” อย่างแท้จริง
จนสามารถนำองค์ความรู้มาจัดสัมมนาเฉลิมฉลอง 100 ปี ในหัวข้อ “ราชบัณฑิตมองไกลทำวิจัยปรับตัวรับมือโลกร้อน” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดังที่ผมเขียนเชิญชวนไว้
ผมขออนุญาตสรุปเกี่ยวกับไทม์ไลน์ของการสัมมนาอีกครั้งว่า...พิธีเปิดงานจะเริ่มในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน เวลา 13.30 น. ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน และทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ
โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา และคณะ เฝ้ารับเสด็จ
ส่วนการปาฐกถาและการเสวนาในวันแรกจะมีเพียง 2 หัวข้อเท่านั้น ได้แก่ ปาฐกถาพิเศษ “ผลกระทบของโลกร้อน และความพร้อมในการรับมือของประเทศไทย” โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล
อีก 1 หัวข้อ “บทบาทของภาคธุรกิจในการมีส่วนร่วมการลดปัญหาโลกร้อน” ซึ่งในเอกสารข่าวที่แจกมาถึงผม ระบุว่า เป็นคุณ ปณต สิริวัฒนภักดี
มีโอกาสอย่าลืมแวะไปฟังไปดูนิทรรศการ และไปหาความรู้กันด้วยนะครับ เผื่อจะมีส่วนในการช่วยลดโลกร้อน หรือปรับตัว สู้กับโลกร้อนได้ในที่สุด...ณ ศูนย์สิริกิติ์ฯ ใกล้แค่นี้เอง.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม