กรมประมงยอมรับมีการส่งออกปลาหมอสีคางดำกว่า 2 แสนตัว โดย 11 บริษัท ส่งไปยัง 17 ประเทศ...ตอกย้ำว่าผู้นำเข้าปลาหมอสีคางดำ เข้ามายังประเทศไทย “ไม่ได้มีรายเดียว”

สอดคล้องกับผู้ทำธุรกิจส่งออกปลาสวยงามรายหนึ่ง ระบุว่า เคยเห็นผู้มาเสนอขายปลา Blackchin Tilapia ในตลาด แต่เนื่องจากไม่สวยจึงไม่ได้รับซื้อไว้เพื่อส่งออก เมื่อนำเข้ามาเพาะพันธุ์แล้วขายไม่ได้ มีแนวโน้มที่จะปล่อยทิ้งลงแหล่งน้ำ

และเมื่อได้อ่านงานวิจัยของกรมประมง เรื่อง “ความหลากหลายทางพันธุกรรมกับพันธุปฏิทรรศน์ของการระบาดปลาหมอสีคางดำในประเทศไทย” ประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายในประเทศไทย มีความแตกต่างทางพันธุกรรมสูง โดยประชากรปลาใน จ.ระยอง มีความแตก ต่างทางพันธุกรรมกับประชากรปลาในสมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพรและประจวบคีรีขันธ์อย่างชัดเจน

ยืนยันได้ว่าแหล่งที่มาของปลาหมอสีคางดำในไทยไม่ได้มาจากแหล่งเดียว

งานวิจัยยังระบุอีกว่า กรณีปลาหมอสีคางดำในประเทศไทยไม่มีประวัตินำเข้าชัดเจน มีเพียงรายงานการขออนุญาตนำเข้าจากกานา ในปี 2549 และในปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว อย่างไรก็ตาม กรมประมงเริ่มมีการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นประมาณปี 2539 จึงอาจมีการนำเข้าก่อนหน้านี้ หรืออาจปะปนมากับการนำเข้าสัตว์น้ำชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกันได้

เนื่องจากปลาในกลุ่มปลานิล (tilapiine clchlids) ลักษณะภายนอกไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในวัยอ่อน มีความเป็นไปได้ว่ากลไกการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำที่ระบาดไปยังจังหวัดที่อยู่ห่างออกไป เช่น ระยอง ประจวบคีรีขันธ์และชุมพร น่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มากกว่าการแพร่กระจายเอง

เห็นข้อมูลแบบนี้ ถ้าการขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องมีเพียงรายเดียว แล้วรายอื่นๆที่เหลือล่ะ ใช้วิธี “ลักลอบนำเข้า” ใช่ไหม? ถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมาอีก คงต้องสังคายนาระบบจัดการการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นให้เด็ดขาดได้แล้ว

...

อย่าให้ตั้งคำถามว่าปลาแปลกๆ ปลาต่างถิ่นที่ขายกันในตลาด ปลานั้น นำเข้าถูกต้องหรือลักลอบกันแน่?

สะ–เล–เต

คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม