ปลัดกระทรวงเกษตรฯขีดเส้นกรมประมง 7 วัน รายงานผลสอบสาเหตุ “ปลาหมอคางดำ” ระบาดหนัก ล่าสุดพบรุกเข้าแม่น้ำลำคลองในหลายพื้นที่ทั้งราชบุรี นนทบุรี นครปฐม เจออยู่กันเป็นฝูง เจ้าหน้าที่ประมงแนะควรใช้แหตาถี่มาจับ เพราะปลาที่พบขณะนี้ยังมีขนาดเล็ก ขณะที่ชาวบ้าน นักหาปลา ขอภาครัฐตั้งราคารับซื้อปลาหมอคางดำให้สูงขึ้นอีกนิด มองราคารับซื้อกก.ละ 15 บาท ถูกไปไม่จูงใจ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติในหลายจังหวัด เข้าไปกินสัตว์น้ำท้องถิ่น บ่อกุ้ง กระชังปลา สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆเป็นอย่างมาก จนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องหามาตรการกำจัดอย่างเร่งด่วน

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนรอบด้าน เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ.2567-2568 ภายใต้กรอบ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ถึงเดือนกันยายน 2568 และมาตรการระยะเร่งด่วนในการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม

...

ปลัดกระทรวงเกษตรฯระบุอีกว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำปลาที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด เป็นไปตามข้อสั่งการของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบสาเหตุการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนอย่างเร่งด่วน และเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางตรวจเยี่ยมจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ใน จ.สมุทรสาครด้วย

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 19 ก.ค.2567 ถึงอธิบดีกรมประมง สั่งการให้กรมประมงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำที่ผ่านมาและสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง และรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบภายใน 7 วัน

ขณะที่ตลอดวันที่ 20 ก.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีประชาชนในหลายจังหวัดแจ้งว่าพบปลาหมอคางดำ เดินทางไปตรวจสอบ อาทิ ที่ซอยไปรษณีย์ไทรน้อย บริเวณสะพานข้ามคลองห้าร้อยเล็ก ม.1 ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และได้รับการเปิดเผยจากนายณัฐพร จันแก้ว รองนายกเทศบาลตำบลไทรน้อย และนายวิรัตน์ ด่านนา อายุ 30 ปี มือยิงปลา กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) จับได้ปลาหมอคางดำ 4 กิโลกรัม ที่สะพานแห่งนี้กับที่บริเวณปากคลองพระพิมลราชา ส่วนมากปลาจะลอยอยู่หน้าปากคลองเยอะมาก เมื่อก่อนไม่เยอะขนาดนี้ แต่ช่วง 2-3วันที่ผ่านมานี้ พบเยอะมาก ตัวใหญ่จะลอยอยู่ใต้น้ำ ตัวเล็กจะลอยขึ้นบนผิวน้ำเหมือนกับขึ้นมาหายใจเป็นฝูง ประมาณ 4-5 ฝูง แต่ตัวยังเล็กอยู่ มีคนขอซื้อเพราะอยากลองกิน จึงขายไป 4 กก. ส่วนตนนำกลับไปทำเป็นปลาแดดเดียวประมาณ 3-4 ตัว ทอดกินหมดแล้ว รสชาติเหมือนปลานิลทั่วไป

เช่นเดียวกับที่ จ.นครปฐม นางนริสา หนูสอน หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง พร้อมนางจารุณีย์ กาญจน์วิริยะ ประมงอำเภอนครชัยศรี ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัด นำแหหว่านสุ่มตรวจสอบปลาหมอคางดำ ที่ริมแม่น้ำท่าจีน หมู่ 1 ตำบลบางระกำ และหมู่ 4 ตำบลเพนียด และในคลองซอยคลองบึงกุ่ม บึงบางช้าง ตลอดทั้งแนวระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร พบว่ามีความหนาแน่นของฝูงปลาเป็นบางจุด โดยเฉพาะบริเวณประตูระบายน้ำจะหนาแน่น จึงให้ชาวบ้านที่มาตามปกติ นำแหมาเหวี่ยงบริเวณประตูน้ำ ปรากฏว่าได้ปลาหมอคางดำติดมาจำนวน 6 ตัว มีขนาดตั้งแต่ 2.6 นิ้ว จนถึง 3.5 นิ้ว ผ่าพิสูจน์ว่ามีไข่หรือไม่ ไม่พบไข่ในปลาดังกล่าว จากข้อมูลที่ได้รับพบว่าปลาหมอคางดำจะมาลอยคอในช่วงเช้าอย่างมากในบริเวณประตูระบายน้ำ เบื้องต้นได้สั่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงการรุกรานของปลาหมอคางดำ และให้ช่วยกันกำจัด หรือหากพบแหล่งใหญ่ของปลาหมอคางดำ ให้แจ้งที่อำเภอหรือประมงจังหวัด เพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาจับไปกำจัด

...

ส่วนที่ จ.ราชบุรี นายอนันต์ สุนทร ประมงจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า มีรายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน 5 อำเภอ คือ ดำเนินสะดวก วัดเพลง ปากท่อ อำเภอเมือง และบ้านโป่ง พบมากที่สุดคือ อำเภอดำเนินสะดวก เนื่องด้วยเป็นพื้นที่มีคลองและติดแม่น้ำอาจจะทำให้มีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว ทำให้มีจำนวนมากขึ้น ส่วนในวันนี้มาตรวจสอบในเขต อ.เมืองที่มีคลองยาวติดต่อไปหลายตำบลและลงแม่น้ำ และช่วยแนะแนวทางให้ความรู้กับชาวบ้าน พร้อมทั้งเชิญชวนให้ช่วยกันจับ เบื้องต้นได้ของบรับซื้อปลาหมอคางดำในราคา กก.ละ 15 บาท จากประชาชนที่จับปลาหมอคางดำได้ พร้อมแนะนำให้ประชาชนใช้แหตาถี่จับปลาหมอคางดำ เนื่องด้วยปลาหมอที่พบในขณะนี้ มีขนาดเล็กอายุประมาณ 1 เดือน และเตรียมหาปลาตามธรรมชาติในพื้นที่ชนิดต่างๆ มาจับปลาหมอคางดำ ทั้งฝากถึงประชาชนที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ให้แจ้งเข้าที่ประมงจังหวัดราชบุรีได้ทันที

ด้านนายสราวุธ สงสว่าง อายุ 51 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าพบปลาหมอคางดำทุกวัน จนคิดว่าเป็นปลาธรรมดา เมื่อหามาได้ก็นำไปประกอบอาหารตามปกติ เนื้อปลาจะน้อย ไม่ค่อยอร่อย ออกยุ่ยๆ ส่วนข่าวที่ว่าปลาหมอคางดำจะทำลายระบบนิเวศ ตนว่าน่าจะจริงเพราะช่วงหลังๆ พบปลาชนิดนี้เยอะกว่าปลาชนิดอื่น เช่นเดียวกับนายไกรลาศ รามสิทธิ อายุ 51 ปี อาชีพหาปลาในแม่น้ำแม่กลองมาเกือบ 40 ปี กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวว่าเป็นปลาที่ขยายพันธุ์ได้ไว และทำลายระบบนิเวศ ตนหลังจับได้ก็กำจัดทิ้งไม่ได้นำมากิน เพราะเนื้อปลาไม่อร่อย ตนคิดว่าถ้ารัฐบาลคิดจะกำจัดปลาชนิดนี้จริง ควรตั้งค่ารับซื้อให้สูงหน่อย ถ้ารับซื้อ กก.ละ 8-15 บาท มองว่าถูกไป ไม่มีชาวบ้านคนไหนให้ความร่วมมือแน่นอน เพราะกว่าจะหาได้แต่ละโล ถ้าคิดจะกำจัดจริงๆ ทำไมไม่ตั้งราคาล่าปลาชนิดนี้ให้สูงกว่านี้

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่