“...ในอนาคตจะมีการขยายการทําสวนผลไม้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ถึงแม้ จ.จันทบุรีจะมีปริมาณฝนมาก จำนวนวันที่ฝนตกกว่าครึ่งปี จนเกิดน้ำไหลหลากท่วม จ.จันทบุรีเป็นประจำ แต่ฤดูแล้งจะขาดน้ำ...” พระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2521 จึงมีพระราชกระแสรับสั่ง “...ให้คณะทํางานโครงการพัฒนาตามพระราชดําริ สำรวจพื้นที่และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินสวนไม้ผล ที่มีลําคลองพาดผ่านพื้นที่ ใน อ.มะขาม จำนวน 109 ไร่ เพื่อเตรียมวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้เป็นตัวอย่าง”

ต่อมาในปี 2524 มีพระราชดําริกับคณะทํางานโครงการพัฒนาตามพระราชดําริ ให้ตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาไม้ผล ให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพแก่ราษฎร และสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสวนผลไม้ จำนวน 60 ไร่ สระเก็บน้ำ จำนวน 12 ไร่ และพื้นที่ว่างเปล่า จำนวน 37 ไร่ เพื่อทําการศึกษา ทดลองทางการเกษตร

“โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จ.จันทบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ และแหล่งศึกษา และถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรด้านไม้ผลในระบบเกษตรดี เหมาะสม มีคุณภาพมาตรฐานให้แก่เกษตรกร และประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อพัฒนาการผลิตไม้ผลชนิดต่างๆ มุ่งบูรณาการดำเนินงานโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โครงการกำหนดเป้าหมายพื้นที่ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จ.จันทบุรี ดำเนินการทั้งสิ้น 109 ไร่ และพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ 8 หมู่บ้าน 25,250 ไร่”

...

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกถึงโครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จ.จันทบุรี ที่เกิดจากการบูรณาการ ร่วมกันของหลายหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ....สำหรับการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ อำเภอมะขาม จ.จันทบุรี พบว่า เกษตรกรที่ได้รับการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ร้อยละ 85 อาทิ หลักสูตรการใช้ชีวภัณฑ์น้ำหมักเห็ดเรืองแสงและไตรโคเดอร์มา, หลักสูตรแปลงเรียนรู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ร้อยละ 80 อาทิ พันธุ์ปลานิล, การทำปุ๋ยหมัก, พด, วัสดุอุปกรณ์, ชุดผลิตน้ำหมักคุณภาพสูง และชุดแคลเซียม-โบรอน

จากการที่เกษตรกรได้นำไปปฏิบัติและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนรู้มา ส่งผลในด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรร้อยละ 50 มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 1,015,474 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากเดิมที่มีรายได้ 818,421 บาทต่อครัวเรือนต่อปี (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 197,053 บาทต่อครัวเรือนต่อปี) จากการจำหน่ายผลผลิตไม้ผล เช่น ทุเรียน, มังคุด, ลองกอง และการแปรรูปผลผลิต และเกษตรกรร้อยละ 63 สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 6,894 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยเป็นการนำผลผลิตที่ปลูกเองในแปลง อาทิ พืชผักสวนครัว และพืชผักตามฤดูกาลมาบริโภค และเกษตรกรร้อยละ 66 สามารถลดค่าใช้จ่ายทางการเกษตร เฉลี่ย 27,269 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยส่วนใหญ่มาจากการนำวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ยหมัก การผลิตอาหารสัตว์ และการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ด้านสังคม ส่งผลให้เกษตรกรร้อยละ 89 มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สืบเนื่องจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายในครัวเรือน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรร้อยละ 45 มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม เช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด กลุ่มเกษตรกรทำปุ๋ยหมักเติมอากาศ และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในพื้นที่โครงการ/ชุมชน เช่น ปลูกพืชในแปลงเรียนรู้ ร่วมกันดูแลรักษาพัฒนาแปลงเรียนรู้ ด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรกรร้อยละ 72 มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแปลงเกษตร โดยร้อยละ 93 ดินชุ่มชื้นและมีคุณภาพดีขึ้น ร้อยละ 79 ในแปลงทำการเกษตรมีสิ่งมีชีวิตในดินมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น.

...

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม