ภาคธุรกิจเราคุ้นเคยกับคำว่า CEO หรือ Chief Executive Officer ซึ่งหมายถึงผู้บริหารสูงสุดขององค์กร แต่นโยบาย “ผู้ว่า CEO” สำหรับภาคราชการจะหมายถึงอะไร
“ผู้ว่า CEO หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ” เป็นการบริหารจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม และให้ความสำคัญกับการบริหารจังหวัดอย่างเป็นระบบ ในปัจจุบันนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศถึงการใช้ระบบผู้ว่า CEO เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานภาครัฐในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการกระจายอำนาจไปยังระดับท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่
“ผู้ว่า CEO” จึงมีบทบาทในฐานะผู้นำในการสานพลัง (Synergy) กับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำนโยบายสำคัญของรัฐบาลไปปฏิบัติ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญ (Pain Point) และส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักการบริหารงาน ดังนี้
1. การบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิด การทำงานแบบประสานงานใกล้ชิด และเกิดผลลัพธ์ร่วมกัน
2. การบริหารแบบเบ็ดเสร็จ โดยการกระจายอำนาจการตัดสินใจ และทรัพยากรทางการบริหารไปสู่ระดับพื้นที่ เพื่อเสริมบทบาทและสร้างความเข้มแข็งให้แก่พื้นที่ ในการขับเคลื่อน ประเด็นนโยบายสำคัญ (Agenda) เร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญหรือศักยภาพโดดเด่นของในแต่ละพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำไปกำหนดเป้าหมายและวิธีการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ
3. การส่งเสริมผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ โดยมีการทบทวนบทบาท ภารกิจของหน่วยงานที่ตั้ง ในภูมิภาค เพื่อลดความซ้ำซ้อนหรือแยกบทบาทที่ชัดเจน รวมทั้งประเมินความจำเป็นและความคุ้มค่าของหน่วยงานที่ตั้งในภูมิภาค ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อให้มีจำนวนหน่วยงานที่เหมาะสม ตลอดจนกำหนดกลไกการทำงานให้เชื่อมโยงกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดกับหน่วยงานส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค เพื่อให้การขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสำคัญมีความรวดเร็ว
รวมทั้งเสริมขีดสมรรถนะ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ (Capacity Building) เพื่อสร้างศักยภาพการทำงานของจังหวัดให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ที่กำหนดให้ขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นตัวชี้วัดใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น เชียงราย และเพชรบุรี
1) จังหวัดเศรษฐกิจชายแดน - จังหวัดอุบลราชธานี
ประเด็นนโยบายสำคัญจังหวัดเศรษฐกิจชายแดน เพื่อส่งเสริมมูลค่าการค้าชายแดน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งโดยให้จังหวัดดำเนินการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ นำเข้า-ส่งออกสินค้า ปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ที่จะทำให้การนำเข้าสินค้าบางประเภท และอนุญาตการขนส่งข้ามจุดผ่านแดนเพิ่มเติมให้สามารถทำได้
2) จังหวัดขจัดหนี้ (นอกระบบ) - จังหวัดบุรีรัมย์
ประเด็นนโยบายสำคัญในการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยให้จังหวัดสนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) นำลูกหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบเพื่อไกล่เกลี่ย
3) จังหวัดดิจิทัล - จังหวัดขอนแก่น
ประเด็นนโยบายสำคัญที่จะผลักดันการเป็นจังหวัดดิจิทัล ใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) โครงการติดตั้งเสาอัจฉริยะ (Smart Pole) และประเด็นที่ 2 การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรางเบาสายเหนือใต้ และโครงการพัฒนาทดลองระบบรางและต้นแบบรถแทรมขนาดเท่าของจริงรอบบึงแก่นนคร
4) จังหวัดสีเขียว : อากาศสะอาด - จังหวัดเชียงราย
ประเด็นนโยบายสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่การบริหารจัดการในพื้นที่สามารถบูรณาการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการทดลองจัดทำโครงการสำคัญเพื่อบูรณาการแผนและงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ทั้งการเข้ามาร่วมดำเนินการของทุกภาคส่วน การนำมาตรการแรงจูงใจมาใช้ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตร การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการถ่ายโอนภารกิจควบคุมไฟป่าต้องสอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณให้กับพื้นที่ด้วย
5) จังหวัดสีเขียว : การจัดการขยะมูลฝอย - จังหวัดเพชรบุรี
ประเด็นนโยบายสำคัญเพื่อให้การจัดการขยะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ให้กฎหมายเป็นอุปสรรค ทั้งในเรื่องการขนขยะข้ามเขตจังหวัด การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องกับบริบทของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ความสำเร็จในการนำระบบ “ผู้ว่า CEO” มาเป็นกลไกในการพัฒนาจังหวัด สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงมหาดไทยจะร่วมกันนำประเด็น Pain Point ของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุมัติ อนุญาต ของส่วนกลางไปหารือกับหน่วยงานเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดของการทำงานในพื้นที่ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
นโยบายผู้ว่า CEO หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ ไม่ได้อยู่เพียงแค่การยกระดับการบริหารจัดการ เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างกรอบการทำงานที่ชัดเจน มีเป้าหมายร่วมกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อจังหวัด และส่งผลถึงการพัฒนาประเทศในภาพรวม สุดท้ายความสำเร็จในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกคนที่จะทำให้การพัฒนาระดับพื้นที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง