ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร จากคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่า ตนพร้อมทีมวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบการแพทย์ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศ” โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างบุคคลข้ามเพศที่เข้ารับการรักษาเพื่อการข้ามเพศในระบบของคลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี และ CMU Pride Clinic แผนกผู้ป่วยนอกคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ทั้งที่เป็นบุรุษข้ามเพศและสตรีข้ามเพศ รวม 82 คน

ผลการศึกษาที่สำคัญพบว่า แม้ว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนจะมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนสรีระได้ แต่ในบุรุษข้ามเพศอาจเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น มีระดับกรดยูริกที่สูงขึ้น ค่าความเข้มข้นของเลือดมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีการทำงานของไตลดลงเล็กน้อยได้ ส่วนสตรีข้ามเพศการรักษาด้วยฮอร์โมนสามารถลดระดับความดันเลือดได้เล็กน้อย บุคคลข้ามเพศมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนสุขภาพจิตพบว่า ภาวะซึมเศร้าและการวิตกกังวล มีอาการเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย แต่ภาวะทุกข์ใจในเพศสภาพลดลง

ผศ.พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า คณะวิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ข้อ ได้แก่

1.ต้องปฏิบัติกับผู้รับบริการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

2.รัฐควรสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับการก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลาย

3.สนับสนุนการพัฒนาฝึกอบรมการดูแลสุขภาพเฉพาะของบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลาย

4.สนับสนุนการจัดบริการสุขภาพจิตสำหรับบุคคลข้ามเพศ

5.พัฒนาหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการให้ครอบคลุมการบำบัดด้วยฮอร์โมนและการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศได้

6.รวบรวมข้อมูลและผลลัพธ์ในการดูแลบุคคลข้ามเพศ

7.สนับสนุนการจัดตั้งชุมชนเครือข่ายบุคคลข้ามเพศ

...

8.สนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์

9.สนับสนุนกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่