ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยและมีแนวโน้มเป็นปรากฏการณ์ลานีญา อาจเกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่

เพื่อลดพื้นที่น้ำท่วม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กุนซือด้านน้ำ ดำเนินงานเชิงรุกให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดทันที เริ่มจากขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567 อย่างเคร่งครัด และรายงานผลมายัง สทนช. ให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลให้เกิดสาธารณภัยในช่วงฤดูฝน รวมทั้งให้จัดทำแผนเผชิญเหตุ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงแหล่งกักเก็บน้ำ คันกั้นน้ำ การวางแผนการระบายน้ำ และการจัดหาพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มขึ้น ตลอดจนการแจ้งเตือนภัยและการช่วยเหลือประชาชน

พื้นที่เมืองหลวงศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ ให้ กทม.เฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ เร่งรัดกำจัดวัชพืช ขยะสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมความพร้อมบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลให้เหมาะสม พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดสูบน้ำเร่งทำการแก้ไขปัญหาต่างๆตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะพื้นที่เขตชุมชนและพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. ให้ข้อมูล แม้ขณะนี้จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ แต่ด้วยสภาพดินที่แห้งแล้งมาหลายเดือน ฝนที่ตกลงมาซึมลงดินเกือบหมด ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆยังไม่มากนัก คาดว่าสิงหาคม-ตุลาคม เมื่อดินชุ่มน้ำแล้ว จะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น...ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจะต้องสอดคล้องกับปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่าในช่วงนั้นๆ

...

สทนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี โดยต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่จะสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 ให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับประเทศ

เตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆเยี่ยงนี้ ฤดูฝนผสมลานีญาปีนี้ น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี.

สะ–เล–เต

คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม