ผลพวง เอลนีโญ ที่เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้ แทนภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ทำให้ขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง และ ลานีญา ที่เกิดจากกระแสลมที่พัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงกว่าปกติทำให้กระแสน้ำอุ่น ไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฝนตกหนักมากกว่าปกติ
ทำให้ อากาศแปรปรวน ร้อนจัด หนาวจัด มรสุมจัด ส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากความไม่สมดุลของธรรมชาติ ฤดูร้อนปีนี้ อุณหภูมิความร้อน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงที่สุดเฉลี่ยมากกว่า 40 องศาฯขึ้นไป ภาวะความ แห้งแล้ง เกิดเร็วขึ้นและกินระยะเวลายาวนาน ทำให้การเกษตร ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่าอากาศสุดขั้วจะทำให้เกิดผลกระทบกับการใช้น้ำในการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชนค่อนข้างหนัก
สถิติอุณหภูมิความร้อนสูงสุดที่ อ.เถิน จ.ลำปาง วัดได้ 44.2 องศาเซลเซียส อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ วัดได้ 44.1 องศาฯ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี วัดได้ 44.0 องศาฯ จะส่งผลกระทบกับการเกษตรโดยตรง เพราะปริมาณน้ำที่ใช้ได้ในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำการเกษตรทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกในปีนี้มีถึง 10.21 ล้านไร่ หรือร้อยละ 126 ของแผนการเพาะปลูก หมายความว่ามีการเพาะปลูกของเกษตรกรมากกว่าปริมาณการใช้น้ำตามแผนที่วางไว้
...
เรากำลังเผชิญหน้ากับความแปรปรวนของ สภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว ทำให้เกิดฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้งและไฟป่าที่รุนแรงขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลจาก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พบว่า จำนวนระยะเวลาที่ อากาศหนาว คือตั้งแต่ 16 องศาฯลงไปที่ปกติจะมีอากาศหนาวระหว่างเดือน ธ.ค.-ก.พ. ประมาณ 60 วัน พบว่า ภาคเหนือ มีอากาศหนาวลดลงเหลือ 45 วัน ตะวันออกเฉียงเหนือ หนาวเพียง 30 วัน จำนวนฝนตกหนักคือมากกว่า 35.1 มม.เพิ่มขึ้น
อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เข้าสู่ยุคโลกเดือด Global Boiling ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ส่วนหนึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสมีเป้าหมายคือการควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาฯ ทุกปี และต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 43 ในปี 2573 ที่ประเทศไทยอยู่ในภาคีด้วย
ไม่ประสบผลสำเร็จ
วันนี้น้ำท่วมยังรุนแรง คลื่นความร้อนสูงขึ้นทุกที ภาวะความแห้งแล้งมีเวลานานขึ้น ไฟป่ามีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ เรายังห่างไกลจากการลดโลกร้อนมากจนเข้าสู่ยุคโลกเดือดในเวลาอันรวดเร็ว
เพราะเรายังแก้ปัญหาโลกเดือดกันแบบไฟไหม้ฟาง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม