จากการแถลงข่าว “เกาะติดสถานการณ์โรค และภัยสุขภาพที่เป็นปัญหา” พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า จากเหตุปะทะรุนแรงตรงข้ามฝั่งไทยบ้านวังตะเคียนใต้ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้มีการอพยพเข้ามาอยู่ในค่ายลี้ภัย ซึ่งระบบสาธารณสุขไทยมีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อในค่ายลี้ภัยอยู่แล้ว ข้อมูลช่วงวันที่ 20-21 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้รับบริการ 142 ราย จากผู้อพยพในค่าย 906 ราย พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 22 ราย ตาแดง 1 ราย โรคทั่วไป 116 ราย และทำแผล 3 ราย การประเมินการรับวัคซีน 30 ราย พบได้รับครบ 24 ราย การตรวจคัดกรองโรคมาลาเรีย 289 ราย พบเชื้อมาลาเรียชนิด PV 1 ราย เป็นเด็กชายอายุ 10 ปีได้รับการรักษาแล้ว แนะนำให้บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่สะอาด จัดสถานที่ล้างมือด้วยสบู่ มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ จัดระบบเก็บขยะมูลฝอยถูกหลักสุขาภิบาล อาหารที่ทานต้องปรุงสุกใหม่ ทั้งนี้ได้เฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียและโรคเท้าช้างตามชายแดนด้วย
พญ.จุไรกล่าวด้วยว่า สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งต้นปี 2567 พบผู้ป่วยจำนวนมาก แต่แนวโน้มโดยรวมขณะนี้ลดลง กลุ่มที่พบป่วยส่วนใหญ่เด็กอายุ 0-4 ปี อย่างไรก็ตามช่วงเดือน พ.ค.จะเริ่มเปิดภาคเรียนและเข้าสู่ฤดูฝน จำนวนผู้ป่วยอาจจะเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากอาการโรคใกล้เคียงกับโควิด-19 ส่วนโรคไข้เลือดออกพบจำนวนผู้ป่วยสูงตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้เริ่มลดลง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กแต่ก็พบในผู้ใหญ่และผู้มีโรคประจำตัวด้วย
ด้าน นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ โฆษกกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สถานการณ์โรคลมร้อนช่วง มี.ค.-เม.ย.2567 เพียง 2 เดือน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 30 ราย เทียบปี 2566 ช่วง มี.ค.-มิ.ย. รวม 4 เดือน พบเสียชีวิต 37 ราย ปีนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 เท่า กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กวัยทารกถึงอนุบาลเนื่องจากระบบระบายอากาศในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมถึงอาชีพเสี่ยงทั้งในกลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง ทหาร ตำรวจ รปภ. จึงควรลดหรือเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ดื่มน้ำระหว่างวันอย่างน้อย 2-4 แก้ว/ชั่วโมง เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี สังเกตอาการให้ดีหากหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาล.
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่