วันนี้ (4 เมษายน 2567) นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และภาคีเครือข่าย ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานรื้อสายสื่อสาร ถนนอโศกมนตรี ตั้งแต่ แยกถนนเพชรบุรี ถึง แยกถนนสุขุมวิท รวมระยะทาง 2.4 กิโลเมตร หลังจากดำเนินโครงการสายสื่อสารใต้ดินแล้วเสร็จ

MEA ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้สนับสนุนการจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมอำนวยความสะดวกในด้านความปลอดภัยจากการทำงานบนเสาไฟฟ้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ทัศนียภาพที่ดี รวมถึง ความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า ลดอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ปี 2567 MEA และหน่วยงานภาคี มีแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดินจำนวน 29 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 61 กิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่บางช่วงของถนนสายสำคัญต่างๆ เช่น ถนนอโศกมนตรี ถนนศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 4 และถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้มีระเบียบเรียบร้อย รวมระยะทางกว่า 570 กิโลเมตร เฉลี่ยดำเนินงานเดือนละ 45 กิโลเมตร และในปี 2568 ยังมีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ารวมระยะทาง 800 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนนี้ MEA ได้สนับสนุนการติดตั้งคอนสายสื่อสารเพื่อใช้สำหรับ การยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ดำเนินการควบคุมให้ติดตั้งสายสื่อสารตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูล สายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า Smart CCM (Smart Communication Cable Management) เพื่อให้บริการขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสารแบบออนไลน์ (Online) บันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ของ MEA ช่วยบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารที่ติดตั้งขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการดำเนินงานที่เจาะจงในด้านสายสื่อสารโดยเฉพาะแล้ว MEA ยังมีโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน ที่กำหนดเป้าหมาย 313.5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยโครงการดังกล่าว จะบูรณาการความร่วมมือในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปในคราวเดียวกันเพื่อลดปัญหาการดำเนินงานบางส่วน ที่ซ้ำซ้อน และลดผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างอีกด้วย

สำหรับประชาชนที่พบเห็นปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง สายสื่อสารหลุดห้อยไม่ปลอดภัย เสาสื่อสารชำรุด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กสทช. โทร. 1200 หรือ LINE@ : @nbtc1200 หรือพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ใช้งานได้ทั้งผ่านระบบ iOS และ Android หรือสอบถามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA X : @mea_news และ Line : MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการ เลือกเมนูติดต่อ MEA Call Center Online 1130 ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

#รื้อสายสื่อสาร
#ถนนอโศกมนตรี #กทม #กสทช
#ผู้ประกอบการโทรคมนาคม
#การไฟฟ้านครหลวง #MEA
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร

สแกน QR Code
Press MEA และ Insert