ปูที่ได้จากการทำการประมงทะเล เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้มีความต้องการสูง เพื่อสร้างจิตสำนึก ปรับวิธีคิดเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวประมงให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรและเพิ่มปริมาณปูในธรรมชาติ กรมประมงจึงได้ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมกลุ่มประมงท้องถิ่น พี่น้องชาวประมง และผู้ประกอบการด้านการประมง จัดกิจกรรม “คืนชีวิตสู่ทะเล ปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนธรรมชาติ” มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562
มีชาวประมงที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 3,350 ราย มีการรายงานการปล่อยปูไข่นอกกระดองลงสู่ทะเลจากชาวประมงแล้วทั้งสิ้น 58,478 ตัว แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 37,718 ตัว และฝั่งอันดามัน 20,760 ตัว
โดยเฉพาะเรือประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีการปล่อยปูไข่นอกกระดองมากที่สุด 17,818 ตัว มีการปล่อยปูไข่นอกกระดองที่จับได้จากเครื่องมืออวนลากคานถ่างมากที่สุด 20,092 ตัว และส่วนใหญ่ปูไข่นอกกระดองที่ปล่อยลงสู่ทะเลจะเป็นปูม้าประมาณ 90%
โดยทั่วไปสามารถพบปูม้าไข่นอกกระดองได้เกือบตลอดทั้งปีในทุกพื้นที่ แม่ปูม้าจะมีความดกไข่ต่ำสุดประมาณ 229,538 ฟอง สูงสุดประมาณ 2,859,061 ฟอง และมีจำนวนไข่เฉลี่ย 998,292 ฟอง
ไข่นอกกระดองจะเป็นไข่ที่ปล่อยออกมาและยึดเกาะอยู่กับจับปิ้งเป็นระยะเวลาประมาณ 9-11 วัน และแม่ปูจะใช้ขาเขี่ยไข่ที่พร้อมฟักเป็นตัวให้หลุดจากจับปิ้ง เพื่อให้ลูกปูวัยอ่อนล่องลอยไปในทะเล
หากมีการนำปูที่มีไข่นอกกระดองมารับประทานเท่ากับว่า ลูกปูจำนวนนี้จะหายไปและหมดโอกาสเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต
ดังนั้น การปล่อยปูไข่นอกกระดองที่ชาวประมงจับได้ลงสู่ทะเล จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ปูที่มีไข่นอกกระดอง สามารถเขี่ยไข่ฟักเป็นลูกปูวัยอ่อนเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตเข้าสู่วงจรชีวิตตามธรรมชาติต่อไป และการจัดกิจกรรม “คืนชีวิตสู่ทะเล ปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนธรรมชาติ” ที่ทำติดต่อกันมากว่า 4 ปี ช่วยคืนไข่ปูกลับสู่ธรรมชาติไปได้กว่า 5 หมื่นล้านฟอง
...
กรมประมงขอขอบคุณสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมกลุ่มประมงท้องถิ่น พี่น้องชาวประมง และผู้ประกอบการด้านการประมงทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรปูในธรรมชาติ ช่วยเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงในอาชีพแก่พี่น้องชาวประมงให้ยั่งยืนต่อไป.
สะ–เล–เต
คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม