กรมอุทยานฯเผยสถิติช้างไทย มีช้างป่าอุดมสมบูรณ์ถึงกว่า 4 พันตัว เหยียบคนตายไปแล้ว 210 คน เตรียมจัดการช้างป่าที่มาทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำลายทรัพย์สิน สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน โดยจัดพื้นที่รองรับกักกันในพื้นที่ป่า 6 กลุ่ม อธิบดีนำ สส.ก้าวไกล เพื่อไทยลงพื้นที่ระยองคัดเลือกช้างดื้อ ช้างดุร้าย ช้างเกเรที่ชอบทำร้ายชาวบ้านเพื่อนำไปปรับพฤติกรรม ก่อนนำไปกักกันที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ฉีดวัคซีนคุมกำเนิดช้าง
เนื่องในวัน “ช้างไทย” วันที่ 13 มี.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงปัญหาช้างว่า ขณะนี้ที่มีปัญหามากคือช้างป่า ที่มีถึง 4,013-4,422 ตัว กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 93 แห่ง พื้นที่มีปัญหาที่ได้รับผลกระทบ 70 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 34 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 29 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 7 แห่ง พื้นที่มีผลกระทบรุนแรง 5 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน พบตัวเลขช้างป่าทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิต ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 210 คน รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก มีการกำหนดมาตรการควบคุมและผลักดันช้างอยู่ในป่า ได้ตั้งชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า 200 ชุดทั่วประเทศแบบเร่งด่วน เพราะประชาชนมีความโกรธแค้นช้างที่ออกมาทำลายพืชผล ทำร้ายประชาชนในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมอุทยานฯ มีแผนที่จะทำพื้นที่กักกันช้างเกเรที่ทำร้ายประชาชน และช้างที่นำโขลงออกจากป่ามาในพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน โดยให้ไปอยู่ในคอกที่จะทำไว้ใกล้กับพื้นที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ อ.ท่าตะเกียบ
จ.ฉะเชิงเทรา จะกักและปรับพฤติกรรมจนกว่าจะสงบ ในวันที่ 15 มี.ค. ตนและ สส.พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยจะเดินทางไป จ.ระยอง ร่วมคัดเลือกว่าช้างตัวไหนดื้อ ดุร้าย จะให้เจ้าหน้าที่จับไปกักบริเวณเพื่อปรับพฤติกรรมด้วย
...
อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กรมอุทยานฯยังกำหนดแนวทางการจัดการพื้นที่รองรับช้างป่า 2 แนวทาง คือ 1.จัดทำพื้นที่รองรับช้างป่า เป็นการจัดการช้างป่าที่มีพฤติกรรมออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างผลกระทบต่อชุมชนในระดับปานกลาง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร หรือเป็นพื้นที่รองรับช้างป่าผ่านการปรับพฤติกรรมแล้ว โดยการสำรวจพื้นที่สำหรับสร้างพื้นที่รองรับและจัดการช้างป่าที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านในพื้นที่ 6 กลุ่มป่าหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มป่าตะวันออกพื้นที่รองรับช้างป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน 2.กลุ่มป่าตะวันตก พื้นที่รองรับช้างป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 3.กลุ่มป่าแก่งกระจาน พื้นที่รองรับช้างป่าคือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี 4.กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว พื้นที่รองรับช้างป่าคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง 5.กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก พื้นที่รองรับช้างป่าคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และ 6.กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่รองรับช้างป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางที่ 2. จัดตั้งศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า เป็นการจัดการช้างป่าที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว สร้างความสูญเสียต่อชีวิตหรือมีแนวโน้มในการที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สิน พืชผลการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ในระดับรุนแรง โดยการสำรวจพื้นที่สำหรับสร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีปัญหาช้างป่า พิจารณาพื้นที่สถานีเพาะเลี้ยง 23 แห่ง และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่งทั่วประเทศที่มีศักยภาพเหมาะสมในการเข้าถึงพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยทั้งแก่ราษฎรและช้างป่า
“นอกจากนี้จะควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด มีโครงการนำร่องการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่าเอเชีย เพื่อศึกษาและทดสอบการใช้วัคซีนคุมกำเนิดในช้างบ้าน ก่อนจะขยายผลไปสู่การทดสอบในช้างป่า หากมีการดำเนินการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ต้องมีการศึกษาจำนวนและโครงสร้างประชากรช้างป่าในพื้นที่อย่างชัดเจนก่อนดำเนินการ” อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าว
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่