“ญี่ปุ่น” ประเทศที่คนไทยชอบไปเที่ยว เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อีกทั้งเดินทางไม่นานจนเกินไป และที่สำคัญรัฐบาลญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่าระยะสั้นไม่เกิน 15 วัน ทำให้คนไทยไปเที่ยวและพำนักอยู่ในญี่ปุ่นจำนวนมาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ปี 2566 มีคนไทยพำนักอยู่ในญี่ปุ่น (ตัวเลขทางการ) จำนวน 82,052 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีครอบครัว ทำงาน และนักเรียน/นักศึกษา
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้นๆ ที่ “ผีน้อยไทย” ระบาดหนัก มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้ช่องทางการเข้าญี่ปุ่นโดยไม่ต้องขอวีซ่า เพื่อลักลอบพำนักและทำงานอย่างผิดกฎหมายในญี่ปุ่น อยู่เกิน 15 วัน
...
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมในหลายโอกาส
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ระหว่างการประชุมหารือด้านการกงสุลระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 (The 3rd Thailand-Japan Consular Consultations) ที่สโมสรราชพฤกษ์ กรุงเทพฯ ได้มีการพูดถึงปัญหานี้
อธิบดีกรมการกงสุลญี่ปุ่น ในฐานะประธานร่วมในการประชุมฯ ได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นหารือกับฝ่ายไทยอีกครั้ง เพื่อขอให้ฝ่ายไทยหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไทยอยู่เกินวีซ่า (overstay) ในญี่ปุ่น
เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนไทยที่อยู่เกินวีซ่าในญี่ปุ่น มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ปี 2564 จำนวน 8,688 คน ปี 2565 จำนวน 9,549 คน และปี 2566 จำนวน 11,472) ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากเวียดนาม
การประชุมล่าสุดนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นยื่นเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายไทยถึงกับสะดุ้ง เพราะหากจำนวนคนไทยอยู่เกินวีซ่าในญี่ปุ่นยังคงสูงเช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลโดยตรงต่อการพิจารณาการยกเว้นวีซ่าระยะสั้นไม่เกิน 15 วัน สำหรับคนไทยของรัฐบาลญี่ปุ่น ในต้นปี 2568
...
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของไทย จึงต้องเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา “ผีน้อยไทย” ในญี่ปุ่น โดยได้จัดการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
เริ่มจากมุ่งเน้น 1.การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนความผิดและบทลงโทษที่จะได้รับเมื่อพำนักอย่าง ผิดกฎหมายในญี่ปุ่น 2.การเพิ่มหน่วยลาดตระเวนและร่วมกับสายการบินตรวจตราผู้ต้องสงสัยที่อาจจะเดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายก่อนการเดินทาง 3.ให้บริษัทนำเที่ยวไปญี่ปุ่นรายงานจำนวนคนไทยที่เดินทางไปและกลับจากญี่ปุ่นสม่ำเสมอ และ 4.ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการชักชวนคนไทยไปพำนักและทำงานผิดกฎหมายในญี่ปุ่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล ได้นำคณะผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปประชุมกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น และสำนักงานตำรวจกรุงโตเกียว เมื่อเดือนที่แล้ว
เพื่อแจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมีมาตรการเชิงรุกในเวลารวดเร็ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายไทย มีความตั้งใจและพยายามเต็มที่
โอกาสเดียวกัน อธิบดีกรมการกงสุลและคณะ ยังได้รับทราบข้อมูลที่น่าตกใจจาก เครือข่ายอาสาสมัครคนไทยในญี่ปุ่น เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว
...
ส่วนใหญ่เกิดจากคนไทยบางกลุ่มที่เป็นพวก “แหกกฎ” ลักลอบพำนัก/ทำงานอย่างผิดกฎหมาย ในญี่ปุ่น โดยอาศัยทางลัดผ่านนายหน้าคนไทย (มาม่าซัง) ในญี่ปุ่นเพื่อหาตำแหน่งงานที่ไม่ต้องใช้ความสามารถทางภาษา เพื่อจะได้เดินทางไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกไปทำงานหนัก ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลง
สภาพความเป็นอยู่ลำบาก บางแห่งถึงขั้นที่ไม่มีน้ำ ไฟฟ้าใช้ เนื่องจากเป็นการทำงานนอกระบบ ไม่มีสวัสดิการใดๆรองรับ ทำให้ตำแหน่งงาน สถานที่ทำงาน และเงินค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับการจัดหาของนายหน้าเท่านั้น
งานส่วนใหญ่จึงหนีไม่พ้นงานใช้แรงงานทางการเกษตร ในโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และขายบริการ
บางคนถูกหลอกไปทำงานไม่ตรงปก เมื่อเจ็บไข้ นายจ้างไม่ดูแล นายหน้าเมิน จะไปรักษาในโรงพยาบาลก็ไม่มีประกัน และค่ารักษามีราคาสูงอีก จะขอความช่วยเหลือก็กลัวถูกจับ ต้องรักษากันตามมีตามเกิด ผลสุดท้าย “เสียชีวิต” ก่อนได้จับเงิน
จึงอยากเตือนคนไทยที่ต้องการไปทำงานในญี่ปุ่น ให้หางานหรือสมัครงานผ่าน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยต้องขอวีซ่าให้ถูกต้อง
ปัญหาคนไทยอยู่เกินวีซ่า 15 วันในญี่ปุ่น หากทุกฝ่ายร่วมกันแก้ให้ลดลงโอกาสที่ญี่ปุ่นจะยกเลิกยกเว้นฟรีวีซ่า 15 วัน สำหรับคนไทยก็คงไม่เกิดขึ้น.
ดำฤทธิ์ วิริยะกุล รายงาน
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่