"กรมอุตุนิยมวิทยา" ประกาศเตือน "พายุฤดูร้อน" ฉบับที่ 6 มีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง พร้อมเผยรายชื่อจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ
วันที่ 9 มี.ค. 2567 เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 6" มีผลกระทบบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 โดยระบุว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย โดยจะมีผลกระทบดังนี้
วันที่ 9 มีนาคม 2567
ภาคเหนือ : จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
...
วันที่ 10 มีนาคม 2567
ภาคเหนือ : จังหวัดตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดชัยภูมิ และนครราชสีมา
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา
ภาคกลาง : จังหวัดลพบุรี สระบุรี และกาญจนบุรี
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.