การประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ ประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อน ประกอบกับสภาวะเอลนีโญยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่จากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเชิงรุก ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งไม่มากนัก

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เลาขวัญ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ได้รับผลกระทบจากการเพาะปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ได้รับผลกระทบจากการเพาะปลูกนาปีต่อเนื่อง และพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประสบการขาดแคลนน้ำจืดจากน้ำทะเลหนุนสูง

สําหรับสถานการณ์น้ำของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบในช่วงฤดูแล้งนี้ 18 สาขา 14 จังหวัด ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และ กปภ. เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา

สำหรับปัญหาการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ที่เกษตรกรในบางพื้นที่ยังคงเดินหน้าเพาะปลูก แม้จะมีการรณรงค์งดเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำบางแห่งมีการจัดสรรน้ำเกินกว่าแผนที่วางไว้...โดยเฉพาะอ่างฯในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล

สทนช. จึงได้บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการควบคุมพื้นที่เพาะปลูกอย่างเคร่งครัด และปรับการระบายน้ำให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงจะมีการนำน้ำจากลุ่มน้ำอื่นๆที่มีปริมาณน้ำมากเข้ามาช่วยลดการใช้น้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา

...

ระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ในลุ่มน้ำแม่กลองไปสนับสนุนการใช้น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน จะช่วยลดภาระการในเร่งระบายน้ำในช่วงฤดูฝนและลดโอกาสการเกิดน้ำล้นได้อีกด้วย

สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำหลักทั้ง 4 สาย ปัจจุบันสามารถควบคุมความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่จะยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.

สะ-เล-เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม