คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย แถลงผลการดำเนินงานของการบินไทยในปี 2566 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 161,067 ล้านบาท เป็นรายได้จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 79.3% จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา การบินไทยมีรายได้กว่า 45,170 ล้านบาท ทั้งที่มีเครื่องบินเพียง 70 ลำ ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินในมือสะสมสูงกว่า 67,000 ล้านบาท มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการทำธุรกิจและจ่ายหนี้คืนตามกำหนดที่ได้ยื่นไว้ในแผนฟื้นฟู
ศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบกับ แผนฟื้นฟูการบินไทย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 แค่ 2 ปีกว่า การบินไทยก็สามารถฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ เริ่มทยอยจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่แสนกว่าล้านบาท และยังเหลือเงินสดอยู่ในมือกว่า 67,000 ล้านบาท ถือเป็นบริษัทที่มีเงินสดสูงมากทีเดียว
คุณปิยสวัสดิ์ เปิดเผยถึงการจ่ายหนี้ว่า การบินไทยเริ่มจ่ายหนี้บัตรโดยสาร 13,000 ล้านบาท เหลืออีก 3-400 ล้านบาท ซึ่งจะชำระหนี้ให้หมดในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และปี 2567 จะเริ่มชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ส่วนหนี้รวม 120,000 ล้านบาท มีกำหนดเริ่มชำระงวดแรกในปีนี้ 10,000 ล้านบาท และต้องชำระให้ครบใน 12 งวด มั่นใจว่า การบินไทยจะชำระหนี้ได้ตามแผน ส่วนการซื้อเครื่องบินใหม่ 45 ลำ ก็ไม่กระทบแผนฟื้นฟู ทำให้มั่นใจว่า กลางปีนี้การบินไทยจะสามารถยื่นไฟลิ่ง และดำเนินการออกหุ้นเพิ่มทุนให้จบในปีนี้ เพื่อกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 2568
วันนี้ การบินไทย กลับมาผงาดอีกครั้งในฐานะ บริษัทเอกชน ไม่ใช่ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี จะได้กำจัดการทุจริตคอร์รัปชันที่เรื้อรังของการบินไทยในอดีตที่เป็นปัญหาของการบินไทย อย่าให้นักการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูง เข้ามายุ่งเกี่ยวการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์อีกเลย คดีที่ยังอยู่ในศาลก็ให้ว่ากันไป ใครทำผิดก็ต้องรับผิด
...
คุณปิยสวัสดิ์ ยังได้เปิดเผยถึง แผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ลอตใหญ่ 80 ลำ จะทยอยเข้ามาในช่วงปี 2570–2576 โดยได้ลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์กับโบอิ้งและจีอีแอโรสเปซไปแล้ว
45 ลำ อีก 35 ลำ อยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเติม (option order) การ จัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 80 ลำนี้ คุณปิยสวัสดิ์ ยืนยันว่า เป็นการพิจารณาจากความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง มีที่ปรึกษาระดับโลกมาช่วยประเมิน ที่สำคัญ เราเจรจากับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและบริษัทผลิตเครื่องยนต์โดยตรง ไม่ได้ผ่านตัวแทนหรือโบรกเกอร์ จึงรับรองว่า ครั้งนี้มีความโปร่งใส ส่วนลดทุกบาททุกสตางค์เข้าบริษัทการบินไทย ไม่มีใครได้คอมมิชชันทั้งสิ้น (แค่นี้การบินไทยก็ประหยัดเงินไปมหาศาลแล้ว) หากดูฐานะการเงินของบริษัทแล้ว คุณปิยสวัสดิ์ บอกว่า เครื่องบิน 45 ลำ สามารถซื้อเงินสดได้
เครื่องบินใหม่ 80 ลำ คุณชาย เอี่ยมศิริ ซีอีโอการบินไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์ ที่ได้รับความนิยมจากตลาดทั่วโลก ผมลองเช็กราคาดู โบอิ้ง 787–8 ลำละ 239 ล้านดอลลาร์ 787–9 ลำละ 281 ล้านดอลลาร์ 787-10 ลำละ 325 ล้านดอลลาร์ การซื้อเครื่องบิน 787 จำนวน 80 ลำครั้งนี้ จะมีมูลค่าราว 800,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
ผมเองก็ดีใจที่เห็นการบินไทยฟื้นตัวเร็วเพราะ การบินไทย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็ยังเป็น หน้าตาของประเทศไทย ในทุกสนามบินทั่วโลก สิ่งสำคัญที่สุดที่การบินไทยจะต้องแก้ไขให้ได้ เพื่อให้ทัดเทียมกับสายการบินชั้นนำอื่นๆก็คือ “การบริการ” ซึ่งผมเคยเขียนคอมเมนต์ไปเยอะแล้ว เพราะผมบินกับการบินไทยบ่อยมาก แล้ว การบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินชั้นนำกระดับท็อป 10 ของโลก ไม่แพ้สายการบินอื่นแน่นอน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม