ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปีเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายหนาวถึงต้นฤดูแล้ง กลายเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลต่อการใช้ชีวิตและเป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพในอันดับต้นๆ ของผู้คนยุคปัจจุบันไปแล้ว

หากเรามองถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้น จะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งปัจจัยตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และทั้งหมดเป็นสิ่งที่สะสมต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน ประการแรกคือสภาพภูมิอากาศ ด้วยความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือมีกำลังอ่อนลง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง หรือมีลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี ฝุ่นควันจึงสะสมในอากาศ และสภาพอากาศแห้งยังเอื้อต่อการเกิดไฟป่าง่ายอีกด้วย กลายเป็นต้นตอของฝุ่นควันจากไฟไหม้ป่าเพิ่มเข้ามาอีก ยิ่งไปกว่านั้น เขตภาคเหนือของประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิประเทศที่เป็นที่ราบล้อมรอบไปด้วยภูเขา ลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ การสะสมหมอกควันในอากาศจึงรุนแรงกว่าพื้นที่อื่น

สำหรับปัจจัยที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น รายงานการศึกษาระบุว่า สาเหตุของการเกิดฝุ่นมีทั้งการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร อุตสาหกรรม การขนส่ง การผลิตไฟฟ้า ส่วนแหล่งกำเนิดทางอ้อมของ PM2.5 ที่สำคัญที่สุด คือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและน้ำมัน จากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนต้นตอสำคัญของไนโตรเจนออกไซด์ คือการขนส่ง การผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม

เมื่อปัจจัยมีมากมายประกอบกัน ปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่และภูมิภาคต่างๆ ย่อมมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป ในเขตเมืองใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ต้นตอที่ทำให้เกิด PM2.5 มากที่สุด คือไอเสียจากรถยนต์ผนวกกับการจราจรที่ติดขัด โดยเฉพาะจากรถยนต์ดีเซลที่มีกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เกิดเขม่าและฝุ่นควันมาก ยิ่งกว่านั้น ประเทศไทยยังคงใช้มาตรการควบคุมมลพิษจากเครื่องยนต์ด้วยมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งต่ำกว่าประเทศแถบยุโรปที่ใช้มาตรฐานยูโร 5-6 (รถยนต์ดีเซลในไทยตามมาตรฐานยูโร 4 ปล่อยอนุภาคฝุ่นระดับ 10 ไมครอน 0.025 กรัมต่อกม. เทียบกับยูโร 5-6 ที่ปล่อยอนุภาคฝุ่นไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกม.)

ขณะที่ในพื้นที่ชนบท ปัญหาฝุ่น PM2.5 มาจากการเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง คือ การเผาป่า 69.8% การเผาในพื้นที่ภาคเกษตร 26% และพื้นที่อื่นๆ 4.2% เช่น ในบางพื้นที่มีการเผาเพื่อหาของป่า การเผาเพื่อบุกรุกพื้นที่ป่าและจับจองพื้นที่เพื่อทำมาหากิน และไฟป่า โดยเฉพาะในปีถัดจากปีที่มีฝนตกชุก ส่งผลให้มีความชื้นสะสมในป่า การเผาตอซังในไร่ข้าวโพด และนาข้าว การเผาอ้อยก่อนตัด เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายสำหรับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

ฝุ่นควันจากการเผาพื้นที่เกษตร ยังมีบางส่วนที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือจังหวัดในภาคเหนือที่อยู่ติดชายแดนเมียนมา อย่าง ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย และจังหวัดทางภาคตะวันออกที่มีพรมแดนติดประเทศกัมพูชา เป็นต้น

และเมื่อพิจารณาการเผาจากประเภทของพื้นที่เกษตรโดยใช้ข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA ช่วง 1 ม.ค.-30 เม.ย. 2566 พบว่า อันดับแรกคือนาข้าว 38.02% รองลงมาคือ ไร่ข้าวโพดและไร่หมุนเวียน 24.08% อันดับที่สามคือไร่อ้อย 9.9% และเกษตรอื่นๆ 28% ตามลำดับ

นอกจากนั้นแล้ว กิจกรรมในครัวเรือนบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ ที่เมื่อเผาไหม้จะเกิดสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด การจุดธูป ซึ่งมีสารหลายๆ ตัวที่ปล่อยออกมาคล้ายกับที่พบในควันบุหรี่ และการจุดเทียน ที่จะทำให้เกิดการปล่อยสารตะกั่ว รวมถึงเขม่าเทียนเองที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ หรือแม้แต่การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซโอโซนจากการอัดและปล่อยปะจุไฟฟ้าที่ลูกกลิ้งและกระดาษ และจากแสงอัลตราไวโอเล็ตจากหลอดไฟในเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งก๊าซโอโซนนี้มีความเป็นพิษทำลายสุขภาพ อีกทั้งยังมีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) อีกด้วย

*ที่มา: บทความเรียนรู้อยู่กับฝุ่น PM2.5 โดย กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำความเข้าใจกับต้นตอของปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างรอบด้านไปพร้อมกับการพิจารณาในเชิงลึก จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งภาคหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ตรงสาเหตุ ในแต่ละท้องถิ่น พื้นที่ และภูมิภาค ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่นำมาใช้ร่วมกันได้ทั้งหมด

รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ปัญหาฝุ่น PM2.5 นอกจากประเด็นสุขภาพแล้ว ก็ยังสร้างความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ผ่านมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น กรณีของครัวเรือน การไปหาหมอเพื่อรักษาต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือการที่ฝุ่น PM2.5 สะสมในร่างกายแม้ยังไม่แสดงการเจ็บป่วยแต่ก็ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม หรือการที่ครัวเรือนต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องฟอกอากาศและหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น หรือไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง นอกจากความเสียหายต่อครัวเรือนแล้ว ฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยวซึ่งเห็นได้ชัดเจนในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งมีอากาศดีมากแต่กลับไม่มีใครไปเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคมเพราะมีการเผาเยอะ อย่างตัวเลขที่ประเมินมูลค่าความเสียหายของฝุ่น PM2.5 ที่สร้างให้กับครัวเรือนไทยทั้งประเทศในปี 62 อยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท โดยกรุงเทพมหานครเยอะสุดประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาท”

การแก้ปัญหาจะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนพร้อมๆ กัน ในส่วนภาครัฐ สิ่งที่ต้องทำคือ การเร่งออกกฎหมายอากาศสะอาดที่ครอบคลุมประเด็นการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหา การเร่งศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดขอบเขต airshed ของฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาข้ามจังหวัดและข้ามประเทศ การกำหนดนโยบายลดการเผาในภาคการเกษตร เช่น การอุดหนุนเกษตรกรที่ต้องการปรับระดับแปลงไร่นาเพื่อใช้เครื่องจักรแทนการเผา โดยให้ครอบคลุมพืชทุกชนิดเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีเพียงอ้อยเท่านั้น นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีตลาดสำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีราคาและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

หรือการสร้างตลาดคาร์บอนภาคบังคับ โดยเก็บภาษีคาร์บอน และการซื้อขายเครดิตคาร์บอน สำหรับในภาคการขนส่ง การแก้ปัญหาไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ไปเป็น Euro 6 เท่านั้น แต่ต้องยกเลิกการใช้เครื่องยนต์ดีเซลในระยะยาว มาตรการผลักดันและส่งเสริมให้ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากภาครัฐเป็นแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการแก้ปัญหาบางส่วนเท่านั้น

“ในภาคยานยนต์ มาตรการยกระดับน้ำมันกับไอเสียจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 ซึ่งก็มีการเลื่อนมาหลายครั้ง ล่าสุดบังคับใช้ 1 มกราคมปี 67 ซึ่งถ้าทำได้ 100% ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาภาคยานยนต์ได้ระดับนึง หรือการตรวจจับควันดำซึ่งยังไม่ได้เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมเท่าไร อีกอย่างคือ จำนวนรถเก่าเยอะมากที่ยังใช้งานกันอยู่ในระบบ ทั้งรถบรรทุก รถสิบล้อ รถกระบะ ซึ่งก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนอยู่แค่การตรวจจับควันดำ”

“ภาครัฐควรเพิ่มนโบายที่เป็นเรื่องของแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น อย่างในภาคเกษตร เราเห็นแต่มาตรการลดการเผาอ้อยจากภาครัฐ การสนับสนุนส่งเสริมจากทั้งรัฐและเอกชนเพื่อเปลี่ยนผ่านการทำไร่อ้อยแบบดั้งเดิมให้เป็นการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ แต่นาข้าวกับไร่ข้าวโพดยังไม่มีใครพูดถึงเลย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องตั้งเป้าแก้ปัญหากับพืชเกษตรต่างๆ ให้เท่าเทียมกัน หรือในภาคป่าไม้ก็เหมือนกัน คือการสั่งห้ามเผาแต่เราไม่ได้มีทางออกให้เขา ถ้าชาวบ้านไม่เผาเราจะให้เขาทำอะไร มีทางเลือกอะไรให้เขาหรือไม่ มีเงินช่วยเหลือให้เขารึเปล่า เราควรมีเงินค่าตอบแทนจูงใจเพื่อเป็นค่าเสียโอกาส มันก็ทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะดูแลป่าเยอะขึ้น” ดร.วิษณุ กล่าว

ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาคือโรงงานในประเทศมีนับแสนทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ แต่ส่วนที่ภาครัฐพยายามติดตามตรวจสอบมีแค่โรงงานใหญ่ราวเกือบหนึ่งพันโรงงานเท่านั้น แต่ไม่สามารถลงไปติดตามกับโรงงานขนาดกลางและเล็กได้ อีกเรื่องคือการแก้ปัญหาผังเมือง ที่ปัจจุบันมีการสร้างตึกสูงขึ้นมากกว่าเดิมในพื้นที่แออัด ซึ่งส่งผลให้การจราจรติดขัด เกิดควันพิษบนท้องถนน และในตึกสูงเวลามีฝุ่น ลมพัดเข้ามาก็หาทางออกไม่ได้ อากาศไม่ไหลเวียน เพราะฉะนั้น เมืองที่หนาแน่นมากมันทำให้มลพิษจะตกค้างอยู่เยอะ

ล่าสุด การที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวให้คำมั่นสัญญาว่าอากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน และพร้อมที่จะผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดอย่างเต็มที่ น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการเดินหน้าสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้

“จุดหลักของ พ.ร.บ.อากาศอากาศสะอาดที่ผมว่ามันขาดไปและจำเป็นจะต้องมีก็คือ หน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะเห็นว่าแต่ละปี เราก็จะมีการตั้งกรรมการหลายชุด แต่สุดท้ายก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ก็ยังเกิด กรมควบคุมมลพิษสามารถทำได้แค่เป็นผู้ประสานงาน ขอความร่วมมือ ซึ่งมันต่างจากการทำงานของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือ EPA ของต่างประเทศที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ภาคหน่วยงานอาสาหรือภาคประชาชนเสนอให้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลจัดการเรื่องนี้โดยตรง พร้อมตั้งงบประมาณและบุคลากรให้พอเหมาะ หรือในมิติของกองทุนอากาศสะอาดซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ นอกเหนือจากพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน ซึ่งกองทุนนี้เก็บเงินมาจากผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษเพื่อนำเงินไปใช้แก้ปัญหาในฝุ่นหรือมลพิษทางอากาศ”

“แน่นอนว่าในการแก้ปัญหา ทุกภาคส่วนสำคัญทั้งหมด โดยภาคเอกชนควรเป็นผู้นำ เพราะว่าเอกชนคือผู้ผลิตผู้ขาย การซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบไปถึงภาคอุตสาหกรรมด้วย ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีหน้าที่ทำให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่แน่ชัด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อเอกชนหรือแม้แต่การให้ความช่วยเหลือเอกชนด้วยแต้มต่อที่ต่างกัน กลุ่มใหญ่อาจจะช่วยน้อยกว่า ในขณะเดียวกันกลุ่มเล็กอาจจะช่วยมากกว่า เพื่อลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำออกไปให้ได้ ภาคประชาชนก็สำคัญ ทุกคนต้องมีองค์ความรู้ ความพร้อม ตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นจริงๆ สร้างกลไกการปลูกฝังในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่เยาวชน ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาวที่เพิ่มเข้าไปได้ แต่ระยะสั้น สื่อมวลชนควรเป็นกระบอกเสียงหลัก ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการช่วยกันในการแก้ปัญหา” ดร.วิษณุ กล่าวสรุป