ศาลพิพากษาคดีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” วัย 3 ขวบ จำคุก “ลุงพล” 2 ข้อหารวม 20 ปี ส่วนป้าแต๋นยกฟ้อง ศาลให้ประกันตัว 5 แสนบาท เจ้าตัวร่ำไห้ยอมรับคำตัดสินเตรียมทีมทนายยื่นอุทธรณ์ ส่วนพ่อแม่น้องชมพู่ขอบคุณพยานปากเอก ขณะที่ตำรวจชุดคลี่คลายคดีเผย 8 ประเด็นเป็นหลักฐานสำคัญคลี่คลายคดีมหากาพย์ 3 ปี 7 เดือน
จากคดีมหากาพย์ “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบ หายออกจากบ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 11 พ.ค.63 ต่อมาอีก 3 วันไปพบศพที่บนภูเหล็กไฟ เขตอุทยานแห่งชาติภูผายล ห่างจากบ้านน้องชมพู่ราว 2 กม. ตำรวจคาดว่าน้องชมพู่อาจถูกล่อลวงออกมาจากบ้าน เป็นไปได้ว่าเป็นเหตุฆาตกรรม ผู้ก่อเหตุต้องมีความชำนาญและอาจรู้จักคนในครอบครัวนี้ แต่เชื่อว่าเด็กไม่ได้พลัดหลงป่าหรือเข้าไปในป่าเพียงคนเดียว น่าจะมีคนนำพาตัวไปที่จุดเกิดเหตุ กระทั่งมีพยานเห็นชายรูปร่างสูงอุ้มน้องชมพู่เข้าป่า
ต่อมาตำรวจรวบรวมหลักฐานออกหมายจับนายไชย์พล หรือลุงพล วิภา และ น.ส.สมพร หรือป้าแต๋น หลาบโพธิ์ สองสามีภรรยาเป็นลุงและป้าน้องชมพู่ ในข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา, พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร, ทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกิน 9 ปีไว้ ณ ที่ใดเพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตนโดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแลเป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย, ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทําให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ส่วน น.ส.สมพร จำเลยที่ 2 ตามความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ต่อมาศาลจังหวัดมุกดาหารนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 31 ต.ค.66 แต่แจ้งเลื่อนเป็นวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เป็นคดีที่ยืดเยื้อกันมานานถึง 3 ปี 7 เดือน ประชาชนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
...
ลุงพล-ป้าแต๋น สีหน้าเคร่งเครียด
ความคืบหน้าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 ธ.ค. ที่ศาล จังหวัดมุกดาหาร นายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” และ น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ หรือ “ป้าแต๋น” สองสามีภรรยา จำเลยที่ 1-2 ในคดีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” เดินทางมาที่ศาลเพื่อฟังคำพิพากษาพร้อมกับนายสุรชัย ชินชัย ทีมทนายความ ลุงพลสวมใส่เสื้อสูทสีกรมท่า ขณะที่ป้าแต๋นสวมใส่เสื้อสีขาว จากนั้นเวลา 09.40 น. นายอนามัย วงศ์ศรีชาและนางสาวิตรี วงศ์ศรีชา พ่อและแม่ของน้องชมพู่ เดินทางมาถึงที่ศาลด้วยเช่นกัน แม่น้องชมพู่ทักทายสื่อมวลชนก่อนจะเข้าไปที่ศาล ส่วนลุงพลและป้าแต๋นทั้งคู่มีสีหน้าเคร่งเครียดเป็นกังวลเดินขึ้นอาคารของศาล มีกองเชียร์และยูทูบเบอร์ส่งเสียงคอยให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง
วางพวงหรีดประชดเกิดวุ่น
ต่อมาเวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุชุลมุนด้านหน้าศาล หลังจากนายชัยรัตน์ ยอดพรม หรือปู่มหามุนี นำพวงหรีดดอกไม้มีข้อความว่า “กำลังใจลุงพลป้าแต๋น” ทำให้มีทีมงานของลุงพลเกิดความไม่พอใจ เดินมาดึงป้ายออกแล้วนำไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร พร้อมกับเปิดเผยว่า ตำรวจปล่อยให้มายืนที่หน้าศาลได้ยังไง ทำไมไม่ตรวจสอบ ไม่สบายใจที่มีป้ายลักษณะแบบนี้ ด้านนายชัยรัตน์กล่าวว่า ทำไมถึงมาทำลายทรัพย์สินของตน ถ้าหากไม่ชอบให้ไปแจ้งความกับตำรวจ ไม่ใช่มาทำลายทรัพย์สินแบบนี้เพราะมันไม่ถูกต้อง เจตนาของตนคือเจตนาที่บริสุทธิ์ ข้อความเขียนว่าให้กำลังใจ ไม่ได้ตั้งใจจะมาก่อความวุ่นวายเลย ถ้าหากว่ามีคนนำดอกไม้ลักษณะนี้มาให้กำลังใจตน ตนก็ยินดีจะรับไว้
ปล่อยข่าวแฟนคลับดีใจเก้อ
ต่อมามีแฟนคลับของลุงพลเข้ามาต่อว่าและมีการปะทะคารมกัน พร้อมกับต่อว่านายชัยรัตน์ด้วย ทำให้นายชัยรัตน์นำไม้ยาวขึ้นมาปกป้องตัวเองเกิดเหตุชุลมุน ผู้สื่อข่าวต้องเข้าไปแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกัน นอกจากนี้ยูทูบเบอร์ฝั่งลุงพลวิ่งตะโกนชูมือแล้วบอกว่าศาลยกฟ้องแล้ว ลุงพล-ป้าแต๋น รวมถึงทนายความกำลังจะเดินทางไปแถลงข่าวที่โรงแรม ทำให้เหล่าแฟนคลับลุงพลต่างวิ่งตะโกนดีใจและร้องไห้ออกมา ทว่าเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากศาลยังไม่อ่านคำพิพากษา แต่ได้มีการชี้แจงว่าในข้อหาพรากผู้เยาว์และข้อหาทอดทิ้งเด็กได้นำมารวมกันเป็น 1 ข้อหา คือพรากผู้เยาว์ ทำให้จากเดิมที่มี 4 ข้อหาเหลือเพียง 3 ข้อหา และหลังจากทราบข้อเท็จจริง แฟนคลับของลุงพลก็มีท่าทีสงบลงต่างนั่งเฝ้ารอกันที่บริเวณหน้าศาล
พิพากษา “ลุงพล” 2 ข้อหาคุก 20 ปี
...
ต่อมาเวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดมุกดาหารอ่านคำพิพากษาในคดีพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” และ น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ หรือ “ป้าแต๋น” สองสามีภรรยา เป็นจำเลยที่ 1-2 กรณีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 และ 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาปราศจากเหตุอันควรจำคุก 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ยกฟ้อง
...
เปิดคำพิพากษาคดีมหากาพย์
ขณะที่เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดมุกดาหารแจกเอกสารในคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ วัย 3 ขวบ ศาลอ่านคำพิพากษาระบุว่า ในคดีหมายเลขดำที่ อ 1013/2564 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร โจทก์ นางสาวิตรี วงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่ 1 นายอนามัย วงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่ 2 กับนายไชย์พล หรือพล วิภา จำเลยที่ 1 และ น.ส.สมพร หรือแต๋น หลาบโพธิ์ จำเลยที่ 2 โดยมีโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2563 จำเลยที่ 1 พรากเด็กหญิงอรวรรณ หรือชมพู่ วงศ์ศรีชา อายุ 3 ปีเศษ เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ร่วมทั้งสองมารดาและบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 พ.ค.2563 จำเลยที่ 1 โดยเจตนาฆ่า เด็กหญิงอรวรรณซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไปทอดทิ้ง ณ เขาภูเหล็กไฟเพียงลำพังโดยไม่มีอาหารและน้ำดื่มเพื่อให้เด็กหญิงอรวรรณพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแลเป็นเหตุให้เด็กหญิงอรวรรณถึงแก่ความตาย และเมื่อระหว่างวันที่ 13 ถึง 14 พ.ค.2563 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จ จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพผู้ตายแล้วถอดเสื้อผ้าและกางเกงออก เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่พบศพเข้าใจว่า ผู้ตายถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพผู้ตายหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
ตั้งปมผู้ต้องสงสัย 14 คน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่พบศพเด็กหญิงอรวรรณผู้ตายอยู่บนเขาภูเหล็กไฟ ห่างจากจุดที่มีคนพบเห็นผู้ตายครั้งสุดท้ายประมาณ 1.5 กิโลเมตร และเป็นทางลาดชัน ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีการตรวจพบเส้นผมผู้ตายหลายเส้นที่มีลักษณะถูกตัดด้วยของแข็งมีคม เชื่อว่า ผู้ตายซึ่งมีอายุเพียง 3 ปีเศษ ไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงบริเวณที่พบศพและใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมของตนเองได้ แต่ต้องมีคนร้ายพาผู้ตายไป ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายหรือไม่เห็นว่า ประการแรกในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 09.00 น. ผู้ตายเล่นอยู่บริเวณหน้าบ้านพักและมีเด็กหญิง ก. พี่สาวผู้ตายนอนเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ใกล้เคียง กระทั่งเวลา 09.50 น. เด็กหญิง ก. มองหาผู้ตายไม่เห็นจึงออกตามหา ดังนั้นผู้ตายต้องหายตัวไป ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว เด็กหญิง ก. เบิกความว่าไม่ได้ยินเสียงผู้ตายร้องแต่อย่างใด เชื่อว่าคนร้ายที่พาผู้ตายไป ต้องเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดในหมู่บ้านที่ผู้ตายรู้จักดี เนื่องจากผู้ตายจะร้องไห้หากถูกคนแปลกหน้าอุ้ม เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนกลุ่มบุคคลดังกล่าว 14 คน แบ่งเป็นญาติ 12 คน และบุคคลใกล้ชิด 2 คน พบว่า 13 คน มีหลักฐานยืนยันที่อยู่หรือตำแหน่งอ้างอิงจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ชัดเจน ยกเว้นจำเลยที่ 1 ไม่สามารถยืนยันหลักฐานที่อยู่ได้แน่ชัดใน เวลาที่ผู้ตายหายตัวไป
...
ส่อข้อพิรุธหลายประเด็น
ประการที่สอง จำเลยที่ 1 ให้การเป็นข้อพิรุธหลายอย่าง อาทิ จำเลยที่ 1 ให้การกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีนัดไปรับพระ ส. ที่วัดถ้ำภูผาแอก ขณะเดินทางไปวัด จำเลยที่ 2 โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายหายตัวไป แต่ครอบครัวของจำเลยทั้งสองมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียวอยู่กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์แจ้งเรื่องแก่จำเลยที่ 1 อีกทั้งพระ บ. ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดถ้ำภูผาแอกเช่นกันยืนยันว่า วันดังกล่าวเวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยที่ 1 เดินทางไปถึงวัดและพูดกับพระ บ. ว่า หลานหายเกือบไม่ได้ไปส่งพระ ทั้งที่ในขณะนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวต้องยังไม่ทราบเหตุว่าผู้ตายหายตัวไป ประการที่สาม พยานโจทก์ปากนาย ว. และนาง พ. ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 อยู่บริเวณสวนยางพาราเป็นทางเดินที่สามารถเข้าถึงจุดที่ผู้ตายหายตัวไป ในช่วงเวลาที่คนร้ายลงมือกระทำความผิด
เกลี้ยกล่อมพยานให้การเท็จ
ขณะที่มีการสอบสวนเรื่องนี้ จำเลยที่ 1 พยายามไปพูดคุยกับนาย ว. ให้ นาย ว.บอกเจ้าพนักงานตำรวจว่า นาย ว.พบจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลา 07.00 น. ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจสงสัยจำเลยที่ 1 เป็นข้อพิรุธว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดต้องพูดจาในลักษณะดังกล่าวกับพยานที่ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็น แม้ต่อมาในขณะสืบพยาน นาง พ.จะเบิกความว่า ตนไม่ได้เห็นจำเลยที่ 1 บริเวณสวนยางพารา แต่ก็เป็นการกลับคำภายหลังเกิดเหตุกว่า 2 ปี ซึ่งอาจทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 คำให้การในชั้นสอบสวนของนาง พ.จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่า ประการสุดท้ายภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายเข้าตรวจค้นรถยนต์จำเลยที่ 1 พบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น
เส้นผมผู้ตายถูกตัด 3 เส้น
ผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่าเส้นผม 1 เส้นที่ตกอยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 1 มีองศาของรอยตัด หน้าตัด และพื้นผิวด้านข้างตรงกันกับเส้นผมผู้ตาย 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพผู้ตาย เส้นผมทั้ง 3 เส้นดังกล่าวถูกตัดในคราวเดียวกันด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย แต่ด้วยเหตุที่เส้นผมมีขนาดเล็กมาก จำเลยที่ 1 ไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตน ทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจในคดีนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปยังจำเลยที่ 1 มาแต่แรก หากเกิดจากการรวบรวมพยานหลักฐานและ ตั้งข้อ สันนิษฐานอย่างเป็นลำดับขั้นตอนดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น โดยไม่ปรากฏว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคนใดมีสาเหตุโกรธเคืองหรือมูลเหตุชักจูงใจในการใส่ร้ายจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่พาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ
โทษประมาททิ้งเด็กตายบนเขา
ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า ขณะพาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ จำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมทั้งสองหรือผู้ตายมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทอดทิ้งผู้ตาย ประกอบกับรายงานการตรวจศพผู้ตายพบรอยช้ำใต้หนังศีรษะ บริเวณหน้าผากด้านซ้ายและท้ายทอยเป็นจ้ำๆ อาจเป็นกรณีที่ผู้ตายหมดสติไป ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจดูให้ดีเลยพาผู้ตายไปทิ้งไว้บนเขาภูเหล็กไฟ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 เห็นแย้ง
ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพนั้น เห็นว่า ภายหลังวันเกิดเหตุจนถึงวันที่พบศพผู้ตาย โจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าเห็นจำเลยทั้งสองขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ แม้ผลการตรวจเส้นผม 3 เส้น จากบริเวณที่พบศพผู้ตายมี mtDNA ตรงกับจำเลยที่ 2 แต่การตรวจหา mtDNA นั้น ไม่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้ เพียงแต่ระบุได้ว่าเป็นเส้นผมของบุคคลที่อยู่ในสายมารดาเดียวกับผู้ตายเท่านั้น เส้นผมดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองในข้อหานี้ พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทำ โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควรจำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง อนึ่ง คดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 เห็นควร พิพากษายกฟ้อง
ศาลให้ประกันตัว 5 แสนบาท
ต่อมาเวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาล อ่านคำพิพากษาเสร็จแล้ว ทนายของลุงพลยื่นหลักทรัพย์ต่อศาลจังหวัดมุกดาหาร เพื่อขอประกันตัว ศาลพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวใช้หลักทรัพย์ 5 แสนบาท
ขอบคุณพยานปากเอก
ขณะที่นายอนามัย วงศ์ศรีชา และนางสาวิตรี วงศ์ศรีชา พ่อและแม่น้องชมพู่ฟังคำพิพากษาแล้วต่างโผเข้ากอด นาย ว.เป็นพยานปากสำคัญที่เห็นลุงพล อยู่ในสวนยางในวันที่น้องชมพู่หายตัวไป นางสาวิตรีเปิดเผยว่า ขอขอบคุณที่ช่วยยืนยันข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นพยานที่สำคัญมากๆ ทำให้คดีนี้มาถึงวันนี้ ขอบคุณ ศาลมุกดาหาร ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม ขอบคุณสวรรค์ที่เมตตา ส่วนนายพิสิษฐ์ ตรัยเจริญเมธากุล และนายจักรวาล อัครวิศาลหิรัญ ทีมทนายความพ่อแม่น้องชมพู่เปิดเผย หลังศาลพิพากษา ทีมทนายความ ยังมีข้อสงสัยตามสมควร และมีประเด็นที่เห็นแตกต่างกัน แต่ไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาล ในส่วนนี้จะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ต่อไป
แฉบังคับให้บิดเบือนเวลาเด็กหาย
นาย ว. พยานปากเอก เปิดเผยว่า ขอขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรมแก่ชมพู่ ยอมรับว่า ตอนที่ตำรวจมาสอบปากคำถึงที่บ้าน รู้สึกกลัว แต่ตัดสินใจพูดความจริงออกมาว่าลุงพลมีพิรุธมาก วันที่เกิดเหตุลุงพลเข้ามาพูดกับตนให้เปลี่ยนเวลา เพราะเวลานั้นคือเวลาเด็กหาย เปลี่ยนจากเรื่องความจริงให้เป็นอีกเรื่อง ลุงพลจะเข้ามาทำร้าย แต่ตนมีลูกชายมาด้วยจึงไม่กล้า และพยายามบังคับพูดจาข่มขู่ บังคับให้ตนเองเปลี่ยนเวลาและวันที่ตลอด แต่ตนยังยืนยันคำให้การเดิม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากลัวและมีความกังวลว่าถ้าลุงพลได้รับการประกันตัวออกมาจะถูกคุกคาม
“ลุงพล” เตรียมยื่นอุทธรณ์
ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่โรงแรมริเวอร์ฟอร์น จ.มุกดาหาร นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล และนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น พร้อมด้วยนายสุรชัย ชินชัย ทนายความ แถลงข่าวหลังจากยื่นหลักทรัพย์ต่อศาลจังหวัดมุกดาหาร เพื่อขอประกันตัวนายไชย์พลใช้หลักทรัพย์ 5 แสนบาท ลุงพลเปิดเผยทั้งน้ำตาว่า น้อมรับคำตัดสินของศาลชั้นต้นหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทีมทนายความ ขอขอบคุณแฟนคลับทุกคนที่ให้กำลังใจ ส่วนป้าแต๋นเผยว่า ขอบคุณแฟนคลับทุกคนที่คอยติดตามและให้กำลังใจ ตนเชื่อว่าแฟนคลับทุกคนรู้ว่ากระบวนการยังไม่จบ ยังมีอีก 2 ศาลให้ต่อสู้ แต่วันนี้ตนพร้อมน้อมรับผลคำตัดสินของศาล แต่จะขอสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
เตรียมเอกสารยื่นภายใน 30 วัน
นายสุรชัย ชินชัย ทนายความ เปิดเผยว่า คำพิพากษาศาลแจ้งให้ทราบว่ามีความเห็นแย้ง 2 ท่าน ให้ยกฟ้องคดีนี้ แต่ศาลชั้นต้นก็พิพากษาออกมาแล้ว ต่อไปต้องคัดถ่ายคำพิพากษาศาลที่สมบูรณ์ ก่อนจะยื่นอุทธรณ์ของลุงพลต่อไป คดีนี้ยกฟ้องข้อหาเคลื่อนย้ายศพ ค่าเสียหายทางแพ่งป้าแต๋นไม่ต้องรับผิดชอบ สำหรับในประเด็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในคดีแพ่ง โจทก์ เรียกค่าปลงศพ 300,000 บาท แต่ศาลให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เป็นเงิน 150,000 บาท ส่วนค่าขาดรายได้ในการอุปการะเลี้ยงดู ทางฝ่ายโจทก์เรียก 5 ล้านบาท จากการคำนวณหากเด็กมีชีวิตอยู่จะมีรายได้ต่อปี ปีละ 60,000 บาท ดังนั้นศาลให้จ่ายเป็นเงิน 1,020,000 บาท หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของทีมทนายที่จะเขียนคำอุทธรณ์เพื่อยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน แต่ด้วยเอกสารที่มีหลายแฟ้มต้องใช้เวลาในการเขียนข้อโต้ตอบโต้และคัดค้าน เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาอีกครั้ง ในครั้งต่อไปจะเป็นศาลอุทธรณ์ภาค 4 จ.ขอนแก่น คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี ส่วนในวันที่ 21 ธ.ค. ญาติและแฟนคลับมีพิธีผูกแขนบายศรีสู่ขวัญลุงพลและป้าแต๋นเวลา 09.00 น. ที่วังปู่ปาริจิต-นาลุงพลป้าแต๋น จ.สกลนคร
เปิดใจตำรวจชุดคลี่คลายคดี
พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. 1 ในคณะทำงานชุดคลี่คลายคดีน้องชมพู่ เปิดเผยว่า สรุปสาระสำคัญที่เป็นพยานหลักฐานสำคัญทั้งหมด 8 ข้อดังนี้ 1.เส้นทางที่ยากลำบากเกินความสามารถของน้องชมพู่ มีเนินชันมากกว่า 60 องศาขวางกั้นในทุกเส้นทาง 2.พลังงานจากอาหารมื้อสุดท้ายที่น้องชมพู่รับประทานไปไม่เพียงพอต่อการเดินไปบนจุดพบศพ 3.ประสบการณ์ชาวบ้านยืนยันว่าเด็ก 3 ขวบจะปีนป่ายไปถึงได้แค่ชั้นที่ 2 ของภูเหล็กไฟเท่านั้น 4.กรณีศึกษาการหลงป่าของชาวบ้านกกตูมชาวบ้านสามารถหาได้เจอภายในคืนเดียว 5.แพทย์ผู้ชันสูตรและกุมารแพทย์ยืนยันว่า พัฒนาการของเด็กอายุ 3 ขวบไม่สามารถที่จะเดินขึ้นไปเองได้ 6.สภาพศพที่เปลือยกายซึ่งบิดาและมารดาของน้องชมพู่ยืนยันว่าน้องชมพู่ไม่สามารถถอดเสื้อเองได้ 7.พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุที่ตรวจพบเส้นผมน้องชมพู่ถูกตัดด้วยมีด เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลอื่น และ 8.นิสัยส่วนตัวของน้องชมพู่กลัวที่สูงและกลัวป่า ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่