ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว.และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วยสถาบันอุดมศึกษาร่วมกับเครือข่ายบริษัทเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 6 แห่ง ได้แก่ บริษัท อนาอ็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) บริษัท ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จํากัด (มหาชน) บริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) และบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) เปิดกิจกรรม Campus Tour โครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง” ครั้งที่ 1 เปิดรับสมัครนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าฝึกงานผ่านโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) ในปีการศึกษา 2567 เพื่อการตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในระยะเร่งด่วน ซึ่งเป็นโครงการนําร่องผ่านการพัฒนาหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์โดยมุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศรวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยให้มากขึ้น
ด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัด อว. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ผ่านกลไกแซนด์บ็อกซ์ มีแผนดำเนินการ 3 แบบ ได้แก่ ระยะสั้น ใช้กลไกสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) ระยะกลาง ใช้กลไกหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกอบรมและการทำวิจัยในต่างประเทศสำหรับอาจารย์และนักวิจัย (Staff mobility-Train the trainer) โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เซมิคอนดักเตอร์เป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญมีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบริษัทระดับแนวหน้าที่มีความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ เพื่อทำให้สามารถผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการพร้อมทำงานได้ทันทีเมื่อจบการศึกษาและมีจำนวนที่มากเพียงพอที่จะสร้างผลกระทบให้กับประเทศได้.
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม