รายงานการตรวจพบชิ้นส่วนของ DNA นับพันล้านชิ้นในวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้สำหรับ COVID–19 ในเพียงแค่ขวดเดียวโดสเดียว รายงานจาก ดร.David Speicher, Department of Pathobiology, University of Guelph, Guelph, Ontario และคณะ
ดร.Speicher จบการศึกษาระดับปริญญาเอกในด้านไวรัสวิทยาและยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล ซึ่งมีงานศึกษาวิจัยมากที่สุดเกี่ยวกับชิ้นส่วนของ DNA ในวัคซีนสำหรับ COVID-19 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้ข้อมูลกับทางสื่อ และ นสพ. นานาชาติ The Epoch Times ที่ตั้งขึ้นมากว่า 23 ปี ว่า
จากการทดลองตรวจวัดปริมาณ DNA จากวัคซีนชนิด mRNA จำนวน 27 ขวด จาก 12 ลอตการผลิต โดยเป็นวัคซีนจากโมเดอร์นา 19 ขวด และจากไฟเซอร์จำนวน 8 ขวด โดยทำการตรวจสอบในส่วน spike ของไวรัส, ori (origin of replication) และยีน SV40 enhancer พบว่ามีปริมาณมากถึง 186 พันล้านชิ้นในวัคซีนของ Pfizer เพียงโดสเดียวเท่านั้น...ส่วนของ spike ที่ได้กล่าวไปนั้น คือลำดับ DNA ในส่วนโปรตีนหนามของไวรัส SARS–CoV–2 ซึ่งจะถูกถอดรหัสไปเป็น mRNA ที่ใช้ในวัคซีนชนิด mRNA ของ COVID–19 นั่นเอง และ mRNA นี้สามารถแปลรหัสต่อไปเป็นส่วนของโปรตีนหนาม
...
ขณะที่ DNA อีก 2 ส่วนคือ ยีน SV40 enhancer และ ori จะเป็นตัวช่วยในกระบวนการเพิ่มปริมาณ DNA ของ spike แต่ทว่า ท้ายที่สุดแล้ววัคซีนชนิด mRNA ก็ควรที่จะมีเพียง RNA เท่านั้น ไม่ควรที่จะมีชิ้นส่วนของ DNA อื่นใดที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วน spike หลงเหลืออยู่
เพราะเหตุใดจึงพบชิ้นส่วน DNA ในวัคซีนชนิด mRNA?
วัคซีนชนิด mRNA นั้นผลิตขึ้นมาจาก DNA โดยเริ่มแรกนั้น Pfizer จะใช้เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม (PCR) เพื่อเพิ่มปริมาณ DNA ให้ได้จำนวนมากและเปลี่ยน DNA เหล่านี้ให้เป็น RNA เพื่อใช้สำหรับผลิตวัคซีน อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ไม่มีความรวดเร็วเพียงพอต่อความต้องการของวัคซีนที่มีปริมาณมาก ดังนั้น เพื่อให้ได้ปริมาณ DNA ตามที่ต้องการ Pfizer จึงเปลี่ยนมาใช้แบคทีเรียในการผลิต DNA ทดแทนการใช้เครื่อง PCR ซึ่งเทคนิคการใช้แบคทีเรียในการผลิตยีนและโปรตีนนั้นถือเป็นกระบวนการมาตรฐานทางเทคโนโลยีชีวภาพที่นำไปใช้ในการผลิตยา เช่นเดียวกันกับ Pfizer บริษัท Moderna ระบุถึงรายงานที่ส่งไปยัง European Medicine Agency ว่าทางบริษัทใช้ plasmid DNA จากแบคทีเรียในการผลิตวัคซีน โดย plasmid DNA นี้สามารถพบได้ทั่วไปในแบคทีเรียและปรสิตบางชนิด ซึ่งรูปร่างของ plasmid จะเป็น DNA ที่มีรูปร่างเป็นวงกลม ขณะที่ DNA ของมนุษย์จะเป็นสายตรง
การทำให้แบคทีเรียเพิ่มปริมาณชิ้นส่วน DNA ส่วนของ spike นั้น อันดับแรกจะต้องใส่ชิ้นส่วน DNA ส่วนของ spike เข้าไปในแบคทีเรียก่อน เมื่อแบคทีเรียมีการเพิ่มจำนวน DNA ส่วนของ spike ที่ใส่เข้าไปก็จะมีการเพิ่มจำนวนด้วยเช่นกัน...อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณชิ้นส่วน DNA นี้ ไม่สามารถใส่แต่เพียง DNA ในส่วนของ spike หากแต่ต้องใส่ DNA บริเวณอื่นเข้าไปด้วย เช่น ส่วน ori จะช่วยเป็นสัญญาณในการเริ่มจำลองสาย DNA ยีน SV40 enhancer จะช่วยกระตุ้นให้มีการจำลองสาย DNA มากขึ้น และยีนต้านยาปฏิชีวนะจะช่วยให้สามารถระบุแบคทีเรียที่รับเอาชิ้นส่วน DNA ที่ใส่เข้าไปได้ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต DNA และ mRNA จากแบคทีเรียแล้ว ส่วนของ DNA จะถูกกำจัดออกไปเพื่อให้เหลือแต่ mRNA สำหรับการผลิตวัคซีน
อย่างไรก็ดี DNA ดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้ถูกกำจัดออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากยังสามารถตรวจพบชิ้นส่วน DNA หลายพันล้านชิ้นในส่วนของ spike, ori และ SV40 enhancer ในขวดวัคซีนของ Pfizer ขณะเดียวกัน ก็ตรวจพบชิ้นส่วน DNA ของ ori และ spike จำนวนหลายล้านชิ้นในขวดวัคซีนของ Moderna...อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือยีน SV40 enhancer เป็นสารพันธุกรรมส่วนหนึ่งจากเชื้อไวรัส polyomavirus simian virus 40 (SV40) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมชนิด DNA และเป็นที่ทราบกันดีว่าไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง
ทำไมการปนเปื้อนของ DNA ใน mRNA ถึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล?
DNA แปลกปลอมที่ถูกชักนำเข้าสู่เซลล์ไปพร้อมๆกับ mRNA มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับ DNA ของมนุษย์ โดย DNA แปลกปลอมที่สอดแทรกเข้าไปใน DNA ของมนุษย์นี้จะถูกใช้เป็นต้นแบบในการเพิ่มจำนวนภายในเซลล์ของร่างกาย โดย David ได้กล่าวไว้ว่า ยีน SV40 enhancer จะช่วยเพิ่มความเสี่ยงของการสอดแทรกชิ้นส่วน DNA ซึ่งอ้างอิงจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี 1999 ว่า การเคลื่อนย้าย DNA จะเกิดขึ้นในอัตราสูงสุดหากมี SV40 enhancer เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งผลงานตีพิมพ์ในช่วงปี 1980-1999 จัดได้ว่าเป็นช่วงที่มีการศึกษาวิจัยกันอย่างมากเกี่ยวกับ SV40...หากชิ้นส่วน DNA ของโปรตีน spike สอดแทรกเข้าสู่จีโนมของเจ้าบ้านแล้ว ชิ้นส่วน DNA นี้จะคงอยู่ในเซลล์ตลอดไป ซึ่งการสอดแทรกของ DNA แปลกปลอมเข้าสู่จีโนมของเจ้าบ้านนั้นสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ ดังที่มีการศึกษากันอย่างแพร่หลายเรื่องการสอดแทรกชิ้นส่วน DNA ของไวรัส ในวงการวัคซีนก็มีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับยีน SV40 enhancer เพราะว่ามันได้มาจากไวรัสก่อมะเร็ง ดังตัวอย่างหนึ่งของวัคซีนโปลิโอที่ผลิตขึ้นระหว่างปี 1955-1963 พบว่ามีการปนเปื้อนของ SV40 อย่างไรก็ดี หลังจากมีการศึกษาถึงเรื่องนี้ก็ได้มีข้อสรุปว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็ง
...
ปริมาณชิ้นส่วน DNA สัมพันธ์กับผลร้ายที่จะตามมา?
จากงานวิจัยมีรายงานว่า ในขวดวัคซีนที่มีปริมาณ DNA มากกว่าจะให้ผลข้างเคียงที่รุนแรงมากกว่า ดังที่พบในระบบการรายงานผลข้างเคียงของวัคซีน (Vaccine Adverse Reaction Reports System; VAERS) วัคซีนเหล่านี้จำเป็นต้องทำให้เจือจางลงก่อนฉีดเข้าสู่ร่างกาย หากลืมเจือจางและฉีดให้เด็กนั่นหมายถึงเด็กจะได้รับปริมาณมากเป็น 5 เท่าของปริมาณที่ควรได้รับ ดังนั้น ผลข้างเคียงที่รุนแรงจะเชื่อมโยงกับปริมาณของ DNA ในวัคซีน ซึ่งการตรวจวัดปริมาณของ DNA ในวัคซีนจะใช้ 2 วิธีด้วยกัน คือ Fluorometry และ qPCR การตรวจด้วยวิธี Fluorometry พบว่าปริมาณ DNA เกินค่าที่กำหนด (10 นาโนกรัมต่อโดส) ขององค์การอาหารและยาไป 188 ถึงมากกว่า 500 เท่า ขณะที่วิธี qPCR ตรวจวัดปริมาณ DNA ได้ค่าที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน
Kevin McKernan ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ด้านการหาลำดับสารพันธุกรรมมามากกว่า 20 ปี โดยเคยทำงานอยู่ในโครงการจีโนมมนุษย์และเป็นผู้นำด้านการใช้สารพันธุกรรมทางการแพทย์ ได้อธิบายถึงความแตกต่างของปริมาณ DNA ที่ตรวจวัดได้จาก 2 เทคนิคว่า เกิดเนื่องมาจากวิธี Fluorometry จะตรวจจับ DNA สายคู่ทุกขนาดที่พบ ในขณะที่วิธี qPCR จะตรวจจับ DNA ที่มีขนาดมากกว่า 100 คู่เบสขึ้นไปเท่านั้น อย่างไรก็ดี วิธี qPCR ให้ผลการตรวจวัดที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน โดย McKernan ได้อธิบายว่า ค่ามาตรฐานขององค์การอาหารและยา ได้ถูกระบุไว้เมื่อชิ้นส่วน DNA ในขวดนั้นเป็น DNA เปลือยเปล่าที่ไม่มีการรวมกับสิ่งอื่น เช่น โปรตีนหรือไขมัน ซึ่งเป็นการยากที่จะถูกนำเข้าสู่เซลล์ ขณะที่วัคซีนชนิด mRNA ส่วนของ DNA จะบรรจุไว้ในอนุภาคของไขมันที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตรและขนส่งโดยตรงเข้าสู่เซลล์
...
นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยอีกหลายคนที่ศึกษาถึงผลกระทบของปริมาณ DNA ในวัคซีน เช่น Maria Gutschi ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาด้วยยา, Jessica Rose นักวิทยาภูมิคุ้มกันที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของวัคซีน, David Wiseman ผู้เชี่ยวชาญด้านยา ซึ่งเคยรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษา COVID-19
อะไรที่ควรจะต้องดำเนินการต่อ?... David ได้กล่าวไว้ว่า มีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของ DNA ใน COVID-19 วัคซีน รวมถึงห้องปฏิบัติการต่างๆ จำเป็นต้องทำการทดสอบซ้ำๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของปริมาณ DNA และอาการที่จะเกิดขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีน ในส่วนของคำถามที่ยังไม่มีคำตอบในตอนนี้ นั่นคือ สารพันธุกรรมของ SV40 ที่อยู่ในวัคซีนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งหรือไม่? การศึกษาในสัตว์ทดลองควรจะต้องนำมาใช้เพื่อพิสูจน์ว่าชิ้นส่วน DNA มีผลต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหรือไม่...รายงานเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า องค์การอาหารและยาปฏิเสธที่จะระงับวัคซีน COVID-19 จากบริษัท Pfizer ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนอย่าง Dr.Robert Malone ได้พูดเกี่ยวกับประเด็นการปนเปื้อนของ DNA ในวัคซีนแล้วก็ตาม นอกจากนี้ บริษัทตัวแทนยาจากฝั่งยุโรปได้ให้ข้อมูลไว้ว่า บริษัท Pfizer ไม่เคยระบุว่าในวัคซีนบรรจุยีนของ SV40 อยู่ จนถึงขณะนี้จะเห็นว่าการใช้วัคซีน COVID–19 ยังไม่มีใครที่สามารถออกมายืนยันได้ถึงความปลอดภัยของตัววัคซีนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้แต่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนเองก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมากับผู้บริโภค ทำให้ประชาชนอย่างเราๆ ต้องกลายเป็นหนูทดลองไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะด้วยความกลัวที่จะเป็นอันตรายจากเชื้อไวรัส อย่างไรก็ดี ยังดีที่มีนักวิทยาศาสตร์ที่ยังคอยติดตามและช่วยเป็นหูเป็นตาและนำข้อมูลอีกด้านมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้รับทราบเพื่อพิจารณาถึงผลได้และผลเสียของการเลือกฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ SARS-CoV2 ก็เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบในการตัดสินใจว่า เราควรจะตัดสินใจฉีดวัคซีนหรือไม่
สามารถดูเอกสารตัวจริงรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาและขั้นตอนการวิจัย จากหัวข้อ DNA fragments detected in monovalent and bivalent Pfizer/BioNTech and Moderna modRNA COVID-19 vaccines from Ontario, Canada : Exploratory dose response relationship with serious adverse events ขณะนี้เป็นเอกสาร preprint ส่งวารสาร 19 ตุลาคม 2023.
...
หมอดื้อ
คลิกอ่านคอลัมน์ "สุขภาพหรรษา" เพิ่มเติม