ปัจจุบันเทรนด์ของกลุ่มลูกค้าผู้นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทั่วโลก หันมาเลือกสัตว์น้ำสวยงามเนื่องจากเลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่จำกัด และราคาไม่แพง แต่ทำให้ผู้เลี้ยงได้เพลิดเพลินไปกับการตกแต่งตู้ด้วยการจำลองระบบนิเวศใต้น้ำ ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติได้ในแบบที่ต้องการ ทำให้ผู้เลี้ยงได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เหมาะกับวิถีชีวิตผู้คนในยุคมิลเลนเนียม

“ปลาสวยงามเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง และบ้านเราถือว่ามีปัจจัยพื้นฐานที่ได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันในหลายด้านทั้งในเรื่องความพร้อมทางศักยภาพของเกษตรกร เทคนิคการเพาะเลี้ยง การพัฒนาสายพันธุ์ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิภาคอากาศที่เหมาะสม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นอยู่ในระดับประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามที่สำคัญอันดับต้นๆของโลก กรมประมงจึงได้ดำเนินงานภายใต้แผนการพัฒนาการผลิตและการตลาดสัตว์น้ำสวยงาม (พ.ศ.2565-2570) เพื่อขับเคลื่อนให้เกษตรกรมีความพร้อมในการผลิตสัตว์น้ำสวยงามเป็นที่ต้องการ และได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

...

ทุกวันนี้ปลาสวยงามของประเทศไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลกเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความหลากหลายของสายพันธุ์ ความสวยงาม แปลกใหม่ ราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งประเทศไทยยังมีการผลักดันให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม เพื่อควบคุมคุณภาพและการกักกันโรคของปลาสวยงามในการส่งออกให้เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ค้าทั่วโลกมากยิ่งขึ้น”

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง ยังได้เผยถึงมูลค่าการส่งออกปลาสวยงามของไทยในแต่ละปีมากกว่า 700 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 7.38

นางอรุณี รอดลอย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำสวยงาม ให้ข้อมูลผลการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่า ปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมมี 5 ชนิด

1.ปลากัด เป็นปลาสวยงามที่มีปริมาณการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ได้รับความนิยมในตลาดต่างชาติ จนกลายเป็นอีกหนึ่งทูตวัฒนธรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปลากัดใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตและส่งออกปลากัดไปกว่า 80 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ จีน อิหร่าน ฯลฯ ปริมาณการส่งออกปลากัดเฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านตัวต่อปี สร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 200 ล้านบาท

2.ปลาหางนกยูง มีปริมาณการส่งออกอันดับต้นๆ และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีประมาณ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ Cobra (คอบร้า) Tuxedo (ทักซิโด้) Mosaic (โมเสค) Grass (กร๊าซ) และ Albino Solid

3.ปลาซิวข้างขวาน มีมูลค่าการส่งออกปีละเกือบ 1 ล้านตัว รวมมูลค่าประมาณ 3.5 ล้านบาท/ปี และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมี 2 ชนิด ได้แก่ 1.ซิวข้างขวานเล็ก 2.ซิวข้างขวานใหญ่ พบได้มากทางภาคใต้ในแถบจังหวัดตรัง พัทลุง และถูกจับจากธรรมชาติขึ้นมาเพื่อส่งออกจำหน่ายทั่วโลก ส่งผลให้ปลาซิวข้างขวานในธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง แต่ปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ปลาซิวข้างขวานเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติสำเร็จ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรเพื่อผลักดันให้เป็นปลาเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการจับจากธรรมชาติ

...

4.ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาสวยงามที่ถูกจับขึ้นมาจากธรรมชาติและส่งออกปีละมากกว่า 1 ล้านตัว สร้างรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 8.7 ล้านบาท มีลักษณะที่เด่น ลำตัวใสเหมือนกระจกสามารถมองทะลุเห็นก้างกลางลำตัว ปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ได้แต่ยังมีอัตราการรอดไม่สูงมาก

5.ปลาทอง เป็นปลาสวยงามอีกหนึ่งชนิดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงอยู่ในอันดับต้นๆ ประเทศ ไทยเป็นแหล่งผลิตปลาทองส่งออกที่สำคัญ โดยมีพื้นที่เลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรี และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาทองไทยสามารถพัฒนาสีสันปลาทองให้มีความสวยงามแปลกใหม่ได้อยู่เสมอ เช่น ปลาทองคาริโคะ (Calico goldfish) ปลาทองลายเสือ (Tiger goldfish) ปลาทอง Oranda ShortTail เป็นต้น

...

สำหรับผู้สนใจที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามเพื่อการส่งออก สามารถสอบถามเรื่องการขอขึ้นทะเบียนหรือมาตรฐานหรือปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาสวยงาม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กรมประมง โทร. 0-2579-1862 เนื่องจากการส่งออกปลาสวยงามจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม