คุณพ่อชาวเนเธอร์แลนด์ จัดงานแต่งให้ลูกแฝด "ชาย-หญิง" ตามความเชื่อแบบไทย พร้อมเผยสินสอดเงินสด 2 แสนบาท ทองคำน้ำหนัก 20 บาท

เมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 24 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ้านเลขที่ 10/49 ต.บางพลีน้อย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ Mr.โรนัลด์ เฮนดริก เดอะโครท อายุ 58 ปี ผู้เป็นบิดา และ นางรุ้งกาญน์ เดอะโครท อายุ 44 ปี ผู้เป็นมารดา ได้จัดงานแต่งงานให้กับลูกฝาแฝดชายหญิงอายุ 5 ปี ชื่อ ด.ช.โรนัลด์ เฉลิมฉัตร เดอะโครท หรือ รอนนี่ (แฝดพี่) กับ ด.ญ.ชาลีน่า ปรานฉัตร เดอะโครท หรือ ลีน่า (แฝดน้อง) เด็กลูกครึ่งไทยเนเธอร์แลนด์ โดยการจัดพิธีกรรมดังกล่าว เป็นไปตามความเชื่อแบบโบราณของไทย ถ้าหากมีลูกฝาแฝดที่เป็นชาย-หญิง จะต้องจัดพิธีแต่งงานให้ มิฉะนั้นเด็กทั้งสองคนอาจจะต้องพลัดพรากจากกันในชาตินี้ 

สำหรับพิธีการนั้น เจ้าบ่าวเริ่มตั้งขบวนแห่ขันหมาก ถือฤกษ์ดีในเวลา 09.09 น. โดยมีญาติๆ ถือต้นกล้วย ต้นอ้อย พร้อมอาหารคาวหวาน ตั้งขบวนแห่มาทำการสู่ขอเจ้าสาวที่บ้าน เมื่อมาถึงหน้าบ้านจะต้องจ่ายเงินค่าผ่านด่านประตูเงินประตูทอง จึงจะสามารถเข้าไปหาเจ้าสาว และทำพิธีการ สวมแหวนหมั้นให้กัน พร้อมแสดงสินสอดทองหมั้น เป็นเงินสดจำนวน 2 แสนบาท และทองคำน้ำหนัก 20 บาท รวมมูลค่าสินสอดทองหมั้นในการสู่ขอทั้งหมดเป็นเงิน 660,000 บาท  

...

จากการสอบถาม นางรุ้งกาญน์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อแบบโบราณของไทย หากมีลูกฝาแฝดที่เป็นเพศชาย-หญิง พ่อแม่จะต้องจัดงานแต่งงานให้ เนื่องจากชาติก่อนเขาทั้งสองคนไม่สมหวังเรื่องของความรัก ดังนั้นในชาตินี้จะต้องจัดงานแต่งงานให้กับเขาทั้งสองคน เพื่อทำให้มีชีวิตที่ดี มีความสุขสมหวัง มีสุขภาพที่ดี มีความฉลาดและมีความเจริญก้าวหน้าในชาตินี้ต่อไป 

ขณะที่ ลูกฝาแฝดอายุ 5 ปี เป็นลูกครึ่งไทย-เนเธอร์แลนด์ ตอนนี้พูดได้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และ ภาษาดัตช์ นิดหน่อย ส่วนเรื่องของอุปนิสัยลูกทั้งสองคนถึงจะเป็นฝาแฝดกัน แต่ก็มีความต่าง คือ ลูกสาวจะมีความเป็นผู้นำ ชอบกินเนื้อสัตว์ อาหารแบบฝรั่ง ไม่ชอบอาหารไทย ส่วนลูกชาย เป็นเด็กมีระเบียบวินัย กินได้ทั้งอาหารฝรั่งและอาหารไทยๆ โดยเฉพาะส้มตำ แต่ไม่ชอบกินเนื้อสัตว์ 

อย่างไรก็ตาม ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่ต้องการมีลูกฝาแฝด คือ ต้องมีความพร้อมด้านร่างกายตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เมื่อเติบโตก็ต้องใส่ใจเรื่องของการเรียนรู้ทางสังคมโดยเฉพาะเรื่องโซเชียลมีเดีย ส่วนเรื่องของความเชื่อในการทำพิธีแบบโบราณของไทยนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล.