จากการเข้าสู่สังคม “ผู้สูงอายุ” ที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทย การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและอยู่ในกำลังแรงงานยาวนานขึ้นเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม เพราะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและต่อตัวผู้สูงอายุ รวมถึงครัวเรือน

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ “ผู้สูงอายุ” มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการรายงานสถานการณ์ในภาพรวม ยังขาดการวิเคราะห์ในรายละเอียดที่จำแนกตามกลุ่มอายุย่อยและคุณลักษณะของผู้สูงอายุ

โครงการวิจัย “สถานการณ์และสภาพการทำงานของแรงงานสูงอายุนอกระบบในประเทศไทย” รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์, สุภรต์ จรัสสิทธิ์, ณัฐณิชา ลอยฟ้า สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนความจริงที่น่าสนใจเอาไว้หลายแง่มุม

พุ่งเป้าไปที่ประเด็น “แรงงานสูงอายุนอกระบบและการเปลี่ยนผ่านสภาพการทำงานของแรงงานสูงอายุ”

ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด การส่งเสริมขยายอายุการทำงานของกำลังแรงงานการเตรียมความพร้อมประชากรวัยแรงงานที่กำลังก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุในอนาคต

...

การสนับสนุน การทำงานหรือมีงานทำของผู้สูงอายุเพื่อให้มีรายได้ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ทั้งหมดเหล่านี้นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อเข้าใจสถานการณ์และการเปลี่ยนผ่านของสภาพการทำงานของ “แรงงานไทย” ในช่วงเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณานโยบายทั้งในด้านการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุและการคุ้มครองการทำงานของแรงงานสูงอายุ

ผลการศึกษาโดยสรุปพบว่าปี 2563 มี 1 ใน 8 ของแรงงานอายุ 45-59 ปี (ประมาณ 1.7 ล้านคน จากทั้งหมด 13 ล้านคน) และ 1 ใน 10 ของแรงงานอายุ 60 ปีขึ้นไป (ประมาณ 4.6 แสนคน จากจำนวนผู้สูงอายุ ที่ยังคงทำงานอยู่ 4.7 ล้านคน) ที่มีสถานภาพเป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ

...ที่มีความเหลื่อมหรือแตกต่างกันภายใต้ 2 วิธีการจำกัดความ กลุ่มที่เป็นแรงงานในระบบตามการจำกัดความของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่เป็นแรงงานนอกระบบตามการจำกัดความขององค์การแรงงาน ระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็น “ลูกจ้าง” ภาคเอกชน และ “ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว” โดยไม่มีลูกจ้าง

โดยเฉพาะในภาคการบริการและการค้า และส่วนหนึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรมที่เป็นผู้ประกันตน ภายใต้ระบบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40

ขณะที่กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบตามการจำกัดความของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่เป็นแรงงานในระบบตามการจำกัดความขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เกือบทั้งหมดมีสถานภาพเป็น “นายจ้าง” ในภาคการบริการและการค้า และส่วนหนึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรม

จำนวนมากทำงานในระดับผู้จัดการผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรรวมถึงพนักงานบริการ...ผู้จำหน่ายสินค้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีงานทำที่มีทักษะหรือเป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง

กรณีศึกษา “แรงงานสูงอายุ” ในกรุงเทพฯ พบปัญหาสำคัญ คือ “ค่าตอบแทน” บวกกับ “งานที่ค่อนข้างหนัก” น่าสนใจว่าเทียบกับปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนผู้มีงานทำที่เป็นแรงงานสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี 2563 เพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 คน

สะท้อนให้เห็นว่า...ผลกระทบจากโควิดทำให้ผู้สูงอายุต้องออกมาทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อหารายได้พึ่งพาตนเอง หรือช่วยเหลือครอบครัว

น่าสนใจด้วยว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานสูงอายุนี้ พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม “แรงงานสูงอายุนอกระบบ” ที่ยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองการทำงานอย่างเหมาะสม

เหลียวมองแหล่งรายได้อื่น กาญจนา เทียนลาย นักวิจัยด้านประชากรและสังคม เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ www.theprachakorn.com/ ในเรื่อง...เปิดแหล่งรายได้ของ “ผู้สูงอายุไทย” ที่ได้จากรัฐ ดังนี้

ปัจจุบัน “ประเทศไทย” ได้กลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว คือมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

...

ประเทศไทยกำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี หรือจำนวนปีที่ผู้เกษียณอายุคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นระยะเวลาอีก 21 ปีเลยทีเดียว

บทความนี้นำเสนอสวัสดิการด้านการเงินที่รัฐจัดให้แก่ผู้สูงอายุไทยจาก 2 แหล่งหลัก คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ เบี้ยหวัด ในช่วงปี 2563-2565 ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ “ประมาณ 10 ล้านคน” ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนคนและงบประมาณ “ปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท”

“เบี้ยยังชีพ”...เริ่มจ่ายครั้งแรกเมื่อปี 2552 และปัจจุบันกำหนดการจ่ายเงินแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 600 จนถึง 1,000 บาท

ส่วนข้าราชการที่เกษียณอายุได้รับ...เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ซึ่งพบว่ามีผู้สูงอายุที่ได้รับ “ประมาณ 8 แสนคน” ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนคนและงบประมาณเช่นเดียวกัน “ปีละ กว่า 2.6 แสนล้านบาทต่อปี”

คำถามสำคัญมีว่า...ผู้สูงอายุควรที่จะต้องมีรายได้เท่าไหร่ จึงจะใช้จ่ายได้อย่างพออยู่พอกิน?

...

“ความยากจนไม่ใช่เรื่องของตัวเงินเท่านั้น” เฉลิมพล แจ่มจันทร์ นักวิจัยคุณพ่อลูกสองที่มีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ บอกอีกว่า มิติปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องและสำคัญต่อการครองชีพของคน ควรต้องนำมาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งสภาพัฒน์ได้มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมและจัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติเอาไว้

อาทิ มิติด้านการศึกษา, มิติด้านการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ, มิติด้านความเป็นอยู่, มิติด้านความมั่นคงทางการเงิน พบว่า...คนไทยที่เป็น “คนจนหลายมิติ” มีสัดส่วนที่สูงกว่าสัดส่วนคนจนที่วัดในมิติด้านตัวเงินเท่านั้นเกือบ 2 เท่า โดยอยู่ที่ร้อยละ 11.6 ในปี 2564

ที่น่าสนใจคือในจำนวนคนจนหลายมิติทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 8.10 ล้านคนมากกว่า 1 ใน 3 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และเมื่อพิจารณาเป็นในแต่ละกลุ่มอายุ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนคนจนหลายมิติถึงร้อยละ 18.1 ซึ่ง “สูงที่สุด”...เมื่อเทียบกับคนวัยอื่น

ที่สำคัญ...สูงกว่าสัดส่วนผู้สูงอายุที่ยากจน เมื่อวัดเฉพาะด้านตัวเงินถึงเกือบ 3 เท่า

...

“ในการมีอยู่มีกินเพียงพอ ถ้าวัดเฉพาะด้านตัวเงิน ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันอาจจะยังพออยู่ได้ แต่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่อาจจะวัดเฉพาะด้านตัวเงินได้ แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุไทยยังมีความเปราะบาง”

สุดท้ายนี้ในการเตรียมตัว เตรียมพร้อมเข้าสู่ “วัยสูงอายุ” ของประชากรวัยแรงงานในอนาคต คงจะต้องตระหนักถึงจุดนี้และพิจารณาเตรียมการให้รอบด้าน...ไม่เฉพาะเรื่องการเงินเท่านั้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม