14 กันยายน 2566 วันแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ป้ายแดงจากรัฐบาล “เศรษฐา 1” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้ประกาศนโยบายด้านการศึกษาให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทุกแห่งต้องส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาได้ “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวคิด “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ” และ “การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต”

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่เน้นหนักในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ต้องขับเคลื่อนตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”

ซึ่งนโยบายและจุดเน้นที่เจ้ากระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศออกมานี้ ถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.จะต้องนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

นายยศพล เวณุโกเศศ
นายยศพล เวณุโกเศศ

...

และหนึ่งหน่วยงานหลักที่ถูกจับตามอง และเป็นที่คาดหวังเป็นพิเศษของหลายๆฝ่าย ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เนื่องจากต้องกำกับดูแลการจัดการศึกษาสายอาชีพ ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จนถึงระดับปริญญาตรี ทั้งยังเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆของประเทศในเวลานี้

ขณะที่ สอศ.เองก็ อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารระดับสูง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบให้ นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัด ศธ. ขยับขึ้นมากำกับดูแลงานในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) คนใหม่ แทน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ. คนเก่าที่ถูกสลับไปนั่งในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แทน นายอัมพร พินะสา อดีตเลขาธิการ กพฐ.ที่เกษียณอายุราชการ

“จากที่เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการกอศ.มาก่อน ทำให้เชื่อมโยงการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และช่วงที่ผมเข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการกอศ. โชคดีที่ได้ผู้บริหารระดับรองเลขาธิการ กอศ.ครบทุกตำแหน่ง จึงร่วมกันกำกับทิศทางการจัดอาชีวศึกษา “แบบจับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ได้อย่างพอดิบพอดี เกิดการพัฒนา ริเริ่ม และสร้างสรรค์งานใหม่ภายใต้นโยบาย ศธ.และวิสัยทัศน์ของ สอศ.ในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

...

ซึ่งแนวปฏิบัติ 6 ประการ หรือ 6 สิ่งที่อาชีวะจะต้องขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1.ผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 2.เพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการเรียนรู้วิชาชีพ ด้วยรูปแบบวิธีการที่ยืดหยุ่น หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพของคนทุกช่วงวัย 3.เสริมสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อการระดมทรัพยากร และยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ 4.ยกระดับคุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคต และเชื่อมโยงกับมาตรฐานทั้งในระดับชาติและระดับสากล 5.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูงขึ้น และ 6.พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล” นายยศพล ที่นั่งรักษาการเลขาธิการ กอศ. ฉายภาพให้เห็นถึงนโยบายที่จะเดินหน้าขับเคลื่อน

นายยศพล ยังเปิดเผยถึง จุดเน้นในการขับเคลื่อนงานอาชีวศึกษา ว่า การจัดการอาชีวศึกษา จะทำงานแบบรอยต่อไร้ตะเข็บ เน้นทีมเวิร์ก สานงานต่อ ก่อเริ่มงานใหม่ ด้วยหัวใจเดียวกัน “OVEC ONE Team” ผ่าน 8 วาระสำคัญ ดังนี้ 1.ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มและสื่อการเรียนรู้อาชีวศึกษา ขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษา (Vocational for All) 2.พัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อลดภาระของผู้เรียนและผู้ปกครอง (Skill Certificate) 3.ยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง 4.พัฒนาระบบการเทียบระดับการศึกษาและคลังหน่วยกิตอาชีวศึกษา (Credit Bank) 5.ทักษะทางภาษาเพื่อการศึกษาและทำงาน (Language Skills) 6.สร้างช่างชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพเสริม (1 วิทยาลัย 1 ศูนย์ช่างชุมชน) 7.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลและการบริหารจัดการ และ 8.เสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่

...

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่านิยมของผู้เรียน ผู้ปกครอง และประชาชน ยังให้ความสำคัญของการเรียนอาชีวะไม่มากพอ สอศ.จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ จะผนึกกำลังกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานการศึกษาทุกภาคส่วน แนะแนวการศึกษาต่อด้านอาชีวศึกษาแก่ผู้เรียน ทั้งในระบบ นอกระบบ ควบคู่การสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้เรียนอาชีวศึกษาในมิติต่างๆ มีรายได้ระหว่างเรียน และมีรายได้ในอนาคต ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของสถานประกอบการ สร้างงานสร้างเงินได้ด้วยตนเอง และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรม สอศ.ได้ใช้กลไกการขับเคลื่อน วาง Action Plan ในทุกหมุดหมายของวาระงาน และกำกับด้วยรูปแบบคณะกรรมการ ภารกิจใดของหน่วยงานและสถานศึกษาที่ปฏิบัติในลักษณะงานในเชิงหน้าที่ งานในเชิงยุทธศาสตร์ และงานในเชิงพื้นที่ ให้ถือว่าภารกิจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ที่ชาวอาชีวะทุกคนจะต้องปฏิบัติ” รักษาราชการเลขาธิการ กอศ. กล่าวทิ้งท้าย

“ทีมการศึกษา” เห็นด้วยกับแนวนโยบายที่ สอศ.เตรียมจะดำเนินการ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การจะขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติคงจะสำเร็จได้ยากหากชาว สอศ.ยังไม่คิดที่จะ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”

...

เพราะหากขาดการทำงานแบบรอยต่อไร้ตะเข็บ เน้นทีมเวิร์ก สานงานต่อ ก่อเริ่มงานใหม่ ด้วยหัวใจเดียวกัน “OVEC ONE Team” อย่างจริงใจและจริงจังของชาว สอศ.แล้ว

คงน่าเสียดายที่ความตั้งใจ และนโยบายดีๆ คงกลายเป็นแค่เพียงความฝันอันสวยหรูบนแผ่นกระดาษที่ไม่มีวันเป็นจริง.

ทีมการศึกษา

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่