ในห่วงโซ่ความทุกข์ ข้อ “ตัณหา” ความอยากมีอยากเป็น ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น คล้องต่อกับข้อ “อุปาทาน” ความยึดมั่นถือมั่น ท่านอาจารย์พุทธทาส บอกวิธีหักห่วงโซ่ทุกข์ข้อนี้ ว่า ก็แค่ “ปล่อยวาง”

ปล่อยวางตัณหา เขียนง่ายอ่านง่าย แต่เรื่องที่ไม่น่าเชื่อ มนุษย์ทำได้ยากแสนยาก

สอนการดับทุกข์ตามแบบฉบับพระไทย...ยิ่งพูดยืดยาวไป ตลอดสายโซ่แห่งทุกข์ ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ยิ่งยาก ฟังไม่รู้เรื่องไปกันใหญ่

การสอนธรรมะในเรื่องเดียวกัน ของพระฝรั่งศิษย์หลวงปู่ชา... สมภารวัดพุทธเมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย ผมเพิ่งอ่านเจอใน “ชวนม่วนชื่น 2” พระอาจารย์พรหม ท่านสอนให้เห็นภาพ จับต้องได้ เข้าใจได้ง่ายๆ

เรื่องที่ 55 เรื่องกล้วยๆ พระอาจารย์พรหม เล่าตามแบบฉบับของท่านว่า

ในสมัยโบราณการจับลิงนั้น เป็นเรื่องไม่ยาก พวกพรานจะเดินเข้าป่า หามะพร้าวที่แก่ได้ที่ เฉาะมะพร้าวให้เป็นรูขนาดเท่ากำปั้นลิง แล้วกินเนื้อกินน้ำมะพร้าวจนหมด

เสร็จแล้วพรานจะเอากล้วยสุกผลหนึ่งหย่อนลงไป ใช้เชือกเส้นใหญ่หรือสายหนังผูกแขวนไว้บนกิ่งไม้

ก็แค่นี้ นายพรานก็กลับไปนอนกระดิกเท้ารอที่บ้าน

ไม่ต้องสงสัย หลับตาเห็นได้เลย จะต้องมีลิงสักตัวซุกซนเวียนมาเจอกล้วยในลูกมะพร้าว ทันที เจ้าลิงก็จะเอามือยัดลงไป กำกล้วยไว้ แต่อย่าลืม รูที่เจาะขนาดพอให้มือลิงเปล่าๆแหย่เข้า พอลิงกำกล้วย มันจึงดึงมือออกจากลูกมะพร้าวไม่ได้

เจ้าลิงจะทุรนทุราย ดึงมือดิ้นรนแค่ไหน อย่างไร เวลาผ่านไปนานแค่ไหน...พรานไม่จำเป็นต้องสนใจ เป็นเรื่องแน่นอน เขาจับลิงได้แน่นอนแล้ว

ก่อนพรานมาถึงตัว ทางรอดเดียวของลิง ปล่อยกล้วยทิ้งจากมือ ดึงมือออกจากลูกมะพร้าว และกระโดดหนี

...

แต่ก็เปล่า! ไม่มีลิงตัวไหนจะรอดมือพราน เพราะมันมัวแต่คิดว่า “มันเป็นกล้วยของฉัน”

พระอาจารย์พรหม เล่าต่อ มนุษย์ก็ถูกจับตัวไว้ด้วยวิธีเดียวกัน

พระอาจารย์ยกตัวอย่างชีวิตของญาติโยม ลูกชายสุดที่รักเพิ่งตาย โยมก็ไม่สามารถหยุดคร่ำครวญถึงเขาได้เสียที โยมรำพันคิดถึงเขาตลอดเวลา ความโศกเศร้านั้น โยมไม่เป็นอันทำการทำงาน ไม่เป็นอันกินอันนอน

สิ่งที่โยมต้องทำ คือปล่อยกล้วยในมือทิ้งไป โยมจึงจะสามารถมีชีวิตต่อไปได้ โดยไม่ต้องมีทุกข์มากเกินไปนัก

แต่ความจริง โยมก็เป็นอย่างลิง โยมไม่ยอมปล่อยวาง เพราะโยมคิดว่า “เขาเป็นลูกชาย” “ฉันเป็นคนให้กำเนิดเขามา” และ “เขาเป็นของฉัน”

คุณแม่หลายคนรำพันให้พระอาจารย์ฟัง ตอนที่มองเข้าไปในดวงตาของลูกที่เพิ่งเกิด ก็รู้โดยสัญชาตญาณ นี่คือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้เกิดมาจากพ่อแม่แต่เพียงผู้เดียว

แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มาพร้อมกับอดีต มีบุคลิกลักษณะเฉพาะของตัวเอง เป็นผู้มาเยือน มาจากภพไหนก็ไม่รู้

พวกเธอมีหน้าที่ ให้การเอาใจใส่ อบรมบ่มนิสัย รักใคร่เอ็นดู น่าเสียดาย เมื่อเวลาผ่านไปพ่อแม่มากมายก็มักลืม พระอาจารย์พรหม สรุปคำสอนที่ฟังแล้วทำตามยากว่า

การรักใครสักคน คือการปล่อยให้เขาจากไปในวันข้างหน้า

อ่านเรื่องพระอาจารย์พรหมจบ ผมมโนไปอีกอย่าง มโนว่า ถ้ากล้วยนั้นคืออำนาจ

ในโลกนี้ ในบ้านเมืองไหนๆ ไม่เว้นในบ้านเมืองเรา มีคนมากมาย ดูเอาเถิด! คนหนึ่งขนาดหนีไปอยู่ถึงเมืองไกลแสนไกล ยังอุตส่าห์ดั้นด้นกลับมาติดกับดักอำนาจ เหมือนลิงกำกล้วยได้อีก.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม