“การจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง การจัดการโซ่อุปทานและแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าว เราพบว่า ในจังหวัดอุดรธานี แต่ละปีมีฟางข้าวมากถึง 856,752 ตัน มีผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว อยู่ 5 กลุ่ม 1.ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ รับซื้อฟางข้าวไปใช้เลี้ยงโคกระบือในสัดส่วน 32.27% ของผลผลิตทั้งหมด 2.ผู้เพาะเห็ด รับซื้อสินค้าฟางข้าวอัดก้อน 0.95% 3.ผู้เพาะเลี้ยงประมง รับซื้อสินค้าฟางข้าวอัดก้อนไปเป็นอาหารปลา 0.64% 4.ผู้ผลิตปุ๋ย รับซื้อสินค้าฟางอัดก้อน 0.32% 5.เกษตรกรเก็บฟางข้าวที่อัดก้อนไว้ใช้ประโยชน์เอง 48.56% ของผลผลิตทั้งหมด และไถ กลบในนาอีก 17.26%”
นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) เผยถึงผลการศึกษาการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผลักดันการใช้ทรัพยากรในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG Model เพื่อให้จัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนและในแต่ละกลุ่มที่มีการนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ ได้ก่อให้เกิดการลดต้นทุนในด้านต่างๆ
...
อย่าง กลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์ นำฟางข้าวมาใช้เป็นอาหารในการเลี้ยงปศุสัตว์ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้หญ้าแพงโกล่าหรืออาหารหยาบ (TMR 16%) แล้วสามารถช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงโคเนื้อและกระบือได้ตัวละ 15.79 บาทต่อวัน ช่วยลดลงต้นทุนไปได้ถึง 52.63% และลดต้นทุนการเลี้ยงโคนมได้ตัวละ 28.96 บาทต่อตัว หรือลดลงไป 48.27%
กลุ่มผู้เพาะเห็ดก็เช่นกัน ซื้อฟางก้อนไปทำการเพาะเห็ด เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เปลือกมันสำปะหลังแล้ว ช่วยลดต้นทุนได้ถึงปีละ 2,965 บาท ลดต้นทุนลงไปได้ 24.71%
กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงประมง ซื้อฟางไปใช้เป็นอาหารปลา เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้อาหารปลาสำเร็จรูปช่วยลดต้นทุนได้ไร่ละ 13,843.20 บาทต่อรุ่น ช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 62.40%
สำหรับกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ย ซื้อฟางอัดก้อนไปใช้ในการผลิตปุ๋ย เมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยอินทรีย์สามารถช่วยลดต้นทุนได้ไร่ละ 305 บาทต่อรอบการผลิต ช่วยลดต้นทุนลงไป 30.50%
และหากคิดในแง่ของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในเมื่อจังหวัดอุดรธานีมีปริมาณฟางข้าว มากถึง 856,752 ตัน เมื่อคำนวณจากสัดส่วนที่เกษตรกรมีการซื้อขายฟางข้าวร้อยละ 34.18 จะพบว่า สามารถสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกรและจังหวัดกว่า 586 ล้านบาท โดยราคาที่เกษตรกรขายเฉลี่ยจะอยู่ที่ก้อนละ 30 บาท ที่น้ำหนักก้อนละ 15 กิโลกรัม
นอกจากนี้การศึกษาในเรื่องนี้ยังมีข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ตามแนวทาง BCG Model ได้แก่ 1. ส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ในการวางแผนการจัดการฟางข้าว ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป/การเพิ่มมูลค่า และการบริหารคลังสินค้า
2.ส่งเสริมความร่วมมือในการซื้อขายฟางข้าวร่วมกัน เพื่อช่วยลดต้นทุนการจัดหาและการขนส่งฟางข้าว
...
3.สนับสนุนเครื่องจักร เทคโนโลยี/นวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านการผลิต การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดของความพร้อมด้านเงินลงทุน ลดปัญหาด้านแรงงานการเกษตรที่ขาดแคลน
และ 4.ส่งเสริมและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดเก็บรักษา เช่น โกดังเก็บฟาง และวัสดุอุปกรณ์ การขนส่งสินค้าฟางข้าว เช่น เทรเลอร์ ลากพ่วง เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดฟางข้าว และป้องกันผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนหรือภัยธรรมชาติ.
...
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม