คณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. จะใช้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 77 ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจ ยศ พล.ต.อ. ซึ่งดำรงตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

และมาตรา 78 การคัดเลือกข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ให้ นายกฯคัดเลือกรายชื่อพนักงานตำรวจตามคุณสมบัติ โดยคำนึงถึง ความอาวุโส และ ความรู้ ความสามารถ ประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ด้านการสืบสวนสอบสวนและงานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นนายกฯจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ

หากพิจารณาตามระเบียบของกฎหมายแล้วเจตนารมณ์เพื่อให้ชั่งน้ำหนักระหว่างความอาวุโสและความรู้ความสามารถที่สมดุลกัน เรื่องของความอาวุโส ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ประเด็น ความรู้ความสามารถ เป็นวิจารณญาณของนายกฯและ ก.ตร. จะต้องใช้ความรอบคอบและเหมาะสมให้มากที่สุด

สมมติคะแนนเต็มร้อย คนที่อาวุโสสูงสุด ในตำแหน่งที่ระบุไว้ก็จะได้ไปแล้ว 50 คะแนน ที่เหลือคือเรื่องความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการพิจารณาแต่งตั้ง

จะชนะกันก็ตรงเรื่องของความรู้ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา อันที่จริงควรจะนำประวัติการลงโทษทางวินัยมาประกอบการพิจารณาด้วย ไม่ใช่เอาแต่เรื่องของความรู้ความสามารถและผลงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างจากการแต่งตั้งโยกย้ายของข้าราชการระดับสูงในกองทัพที่ให้อำนาจ ผบ.เหล่าทัพเป็นคนเสนอชื่อ และให้คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายที่ประกอบไปด้วย ผบ.เหล่าทัพ รมว.กลาโหม รมช.กลาโหมและปลัดกลาโหมเป็นผู้พิจารณา

ใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะแบ่งสายงานปฏิบัติเป็น 5 สายงานด้วยกัน กำหนดเกณฑ์มาตรฐานแต่ละสายงานเอาไว้พอสังเขป เช่น งานสืบสวน 12 คะแนน งานสอบสวน 12 คะแนน งานป้องกันปราบปราม 12 คะแนน อีกสองด้าน ด้านละ 7 คะแนน รวมกันแล้วเป็น 50 คะแนน จะเฉือนกันก็ตรงนี้

...

ตาม พ.ร.บ.ตำรวจมาตรา 76 ยังระบุในตอนท้ายด้วยว่า คำว่าความรู้ความสามารถนั้นให้ขยายความถึงประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม หากพิจารณาแต่งตั้งผิดไปจากหลักการนี้ ถือว่า กระทำโดยเจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะย่อมมีผู้เสียสิทธิที่เป็นผู้เสียหายเกิดขึ้นทันที และสามารถนำไปยื่นฟ้องได้ยังศาลอาญาทุจริตทันที

โดยไม่จำเป็นต้องยื่นฟ้องศาลปกครองก่อน ส่วนศาลปกครองสามารถยื่นฟ้องเพื่อให้การแต่งตั้งที่ผิดกฎหมายเป็นโมฆะ สำหรับผู้ที่เข้าข่ายจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ เรียงตามหลักอาวุโส พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ (21 ปี) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ (18 ปี) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล (14 ปี) พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล (6 ปี)

งานนี้นายกฯเศรษฐาจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม