ทางเลือกโรงงานปลูกกัญชาในระบบปิดเพื่อผลิตกัญชาทางการแพทย์ มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชีย

เริ่มขึ้นแล้วโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ บริษัทแอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศภายใต้สโลแกน “ผลิตโดยคนไทย มาตรฐานสากล เพื่อคนทั้งโลก” โดยจะทำการวิจัย พัฒนาเพื่อผลิต สารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เป้าหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง สำหรับใช้รักษาโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังหลายโรคที่ยังไม่มียารักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย เช่น โรคลมชักที่รักษายากและดื้อต่อยารักษาและโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ภายหลังการได้รับยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาบรรเทาอาการปวดจากระบบประสาทผิดปกติ เป็นต้น

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล

ที่สำคัญ เพื่อตอบสนองประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้สามารถใช้ กัญชารักษาได้ใน 5 กลุ่มโรค
โดยใช้ทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญของ มช. ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์และการวิจัยสภาวะในการปลูกที่เหมาะสมโดย คณะเกษตรศาสตร์ กลางน้ำ คือ การสกัดและการควบคุมคุณภาพนำไปสู่การพัฒนาเป็นสูตรตำรับยาโดย คณะเภสัชศาสตร์ ไปจนถึงปลายน้ำ คือการทดสอบทางคลินิกและการนำไปใช้ทางการแพทย์ โดย คณะแพทยศาสตร์ อีกทั้งยังมีการบูรณาการความรู้ระหว่างคณะและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น

...

“โรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังหลายโรคยังไม่มียารักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย ทำให้แพทย์ได้หันมาใช้ยาแผนปัจจุบันที่ผลิตจากพืชสมุนไพรโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เข้ามาช่วยในการรักษา ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาการผลิตกัญชาเกรดการแพทย์ตลอดทั้งกระบวนการ โรงงาน ปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ จึงเกิดขึ้นและเปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2566 โรงงานตั้งอยู่
ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อผลิตสารสกัดกัญชา เกรดการแพทย์ที่ใช้เกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพเดียวกับยารักษาโรคเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้มาตรฐาน GMP CFR 21 Part 11 ระดับ Pharma Grade และได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน เช่น GMP PIC/S, GLP (ISO17025), GAP, GDP เป็นต้น ทำให้มั่นใจได้ว่ากัญชาในระดับ Medical Grade ที่ผลิตได้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และผู้ป่วยที่มีโรคและอาการตามข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะสามารถผลิตยา Oral Liquid Dosage Form ได้ไม่ต่ำกว่า 220,000 ขวด มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 660 ล้านบาทต่อปี” ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวถึงการตั้งโรงงานปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์

อธิการบดี มช.กล่าวด้วยว่า มช.ยังมีแนวทางจะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อพัฒนาสูตรตำรับยากัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ยากัญชาทางการแพทย์ในการรักษาโรคอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดภาวะปวดประสาท ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เพื่อนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตไม่เฉพาะเพื่อคนไทย แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกดังแนวคิด “ผลิตโดยคนไทย มาตรฐานสากล เพื่อคนทั้งโลก”

สำหรับโรงงานปลูกกัญชาในระบบปิดเพื่อผลิตกัญชาทางการแพทย์ ก่อตั้งโดยบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของ มช.ร่วมทุนกับบริษัทแอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด โดยใช้ชื่อบริษัท แคนน์ดู ฟาร์ม่า จำกัด

นายศุภเดช อำนวยสกุล
นายศุภเดช อำนวยสกุล

ด้าน นายศุภเดช อำนวยสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด กล่าวว่า อาคารปลูกกัญชาเป็นรูปแบบโรงเรือนแบบปิด มีการใช้เทคโนโลยี Indoor Cultivation มาตรฐานระดับ World-Class สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ แสง ความชื้น ปลอดเชื้อ ที่เหมาะสมในการปลูกได้ทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง โดยคำนึงถึงมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice : GMP) Code of Federal Regulations หัวข้อที่ 21 : CFR 21 Part 11 ระดับ Pharma Grade และได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ (GMP Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme : GMP PIC/S) ระบบการปฏิบัติที่ดีในห้องปฏิบัติการ (Good Laboratory Practice : GLP (ISO17025) การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากัญชาทางการแพทย์ที่ผลิตได้จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

...

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ได้จากผลงานวิจัยจะใช้งานได้จริงต้นปี 2567 โดยจะเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล โดยใช้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่หรือ โรงพยาบาลสวนดอกและศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทย ศาสตร์ มช.เป็นศูนย์กลางเพื่อใช้กับผู้ป่วยที่มีความต้องการใช้ในการรักษาทางการแพทย์ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกลอตที่มีการนำไปใช้งานและจากนั้นเตรียมต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยาในระดับโลกต่อไป

...

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่าแม้กัญชา อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของผู้ป่วยโรคร้ายแรง-เรื้อรัง แต่ก็ยังดีกว่าการไม่มีตัวเลือกอื่นใดในการรักษาที่ดีกว่า

แต่สิ่งที่เราห่วงและคงต้องฝากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคือ กัญชาก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน การคุมเข้มและมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้มีการนำกัญชาที่มีเป้าหมายใช้ทางการแพทย์หลุดออกมาเพื่อใช้ในทางอื่นที่ไม่ใช่การแพทย์

เพื่อให้กัญชาทางการแพทย์เป็นทางเลือกและตอบโจทย์ผู้ป่วยโรคร้ายแรง–เรื้อรังอย่างแท้จริง.

...

ทีมข่าวอุดมศึกษา