วันเสาร์สบายๆ วันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง Chef หรือ พ่อครัวแม่ครัว กันนะครับ วันนี้ปัญหาการขาดแคลนเชฟกลายเป็นวาระแห่งโลกไปแล้ว ผมคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อเห็นข่าว คุณภริตา วิริยะรังสฤษฎ์  บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Gourmet & Cuisine นิตยสารเรื่องกินเรื่องเที่ยวชื่อดัง เปิดตัวผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ในการแข่งขัน การทำอาหารระดับอุดมศึกษาของไทย “Gourmet & Cuisine Young Chef 2023” ชิงเงินรางวัลกว่า 150,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลเกียรติยศ เพื่อสร้าง “เชฟรุ่นใหม่” เข้าสู่ตลาดอาหารไทยที่กำลังขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัวอย่างมาก

การแข่งขันชิงรางวัล “Gourmet & Cuisine Young Chef 2023” ปีนี้จัดแข่งมาเป็นปีที่ 2 แล้ว แต่ละปีมีนิสิตนักศึกษาคนหนุ่มสาวที่รักการทำอาหาร สมัครเข้าแข่งขันกันหลายสิบทีม อาชีพเชฟวันนี้เป็นอาชีพที่มีรายได้สูง ถ้าฝีมือดีสามารถเปิดร้านเองได้เลย

คุณภริตา กล่าวว่า นิตยสาร Gourmet & Cuisine ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนผู้ที่สนใจก้าวสู่การเป็นเชฟมาตลอด ดังนั้น จึงได้จัดการแข่งขันการทำอาหาร Gourmet & Cuisine Young Chef ขึ้นร่วมกับพาร์ตเนอร์ชั้นนำ มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เยาวชนไทยมีโอกาสเติบโตสู่เชฟมืออาชีพในวงการอาหารไทยและก้าวสู่เวทีระดับโลก ผู้เข้ารอบแต่ละทีมต่างมีแพชชัน ทั้งการครีเอทเมนู ความคิดสร้างสรรค์ การจัดลำดับการทำงานในครัว ไปจนถึงการพรีเซนต์อาหารที่ทำเสร็จแล้ว เทียบเท่าได้กับเชฟระดับมืออาชีพเลยทีเดียว

สมัยที่ผมเคยร่วมผลักดันโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ก็คิดเรื่องการส่งออกเชฟไทยไปทำอาหารไทยในร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ “วัฒนธรรมอาหารไทย” ซึ่งเป็น Soft Power พยายามกันหลายปีแต่ก็ล้มเหลว หน่วยงานภาครัฐไทยไร้ประสิทธิภาพ

...

จนกระทั่งสองปีก่อน นักร้องสาวไทย มิลลิ–ดนุภา คณาธีรกุลไปโชว์การกิน ข้าวเหนียวมะม่วง บนเวทีคอนเสิร์ตโลกที่โคเชลลา สหรัฐฯ ผู้นำไทยก็พูดตามน้ำจะสนับสนุนอาหารไทยให้เป็น Soft Power แล้วก็เงียบไป เมื่อ ลิซ่า BLACKPINK–ลลิษา มโนบาล ให้สัมภาษณ์ว่าอยากกิน “ลูกชิ้นปิ้งยืนกิน” ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ ทำให้ลูกชิ้นปิ้งยืนกินขายดิบขายดี ผู้นำไทยก็ออกมาพูดตามน้ำอีก แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปัญหา การขาดแคลนเชฟอาหารไทย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว วันนี้ร้านอาหารชื่อดังในเมืองไทยรวมทั้งร้านอาหารไทย ไปดูในห้องครัวได้เลย พ่อครัวแม่ครัวมาจากเพื่อนบ้าน เขมร ลาว เมียนมา เวียดนาม กันแทบทุกร้านเลย

ประเทศจีน แม้จะมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน วันนี้ก็กำลังขาดแคลนเชฟหนักมาก ไชน่ามีเดียกรุ๊ป รายงานว่า ขณะนี้จีนมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะอาหารสูงถึง 1.8 เท่าของตำแหน่งงานบริการทั่วไป ในขณะที่ สัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านอาหารในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสูงถึง 3 เท่าของงานบริการทั่วไป จนกลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ไปแล้ว แต่ละเมืองมีการจัดประกวดการแข่งขันการทำอาหารเพื่อสร้างเชฟที่สร้างตำนานให้กับประเทศด้วยความเชื่อว่า “อาหารสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับกาลเวลา ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของจีน” เชฟมือใหม่ในจีนเงินเดือนเริ่มต้นที่ 10,000 หยวน ประมาณ 50,000 บาท สูงกว่าอาชีพอื่น

การขาดแคลนเชฟอย่างรุนแรงในจีนทำให้มีการผลิต “เชฟหุ่นยนต์” หรือ “เชฟโรบอต” ขึ้นมาช่วยทำอาหารที่ไม่ยาก เช่น บะหมี่ หมั่นโถว ซาลาเปา และอาหารจีนอื่นๆ ที่ต้องผลิตเป็นจำนวนมาก แต่ พ่อครัวแม่ครัวมนุษย์ พ่อครัวหุ่นยนต์ไม่สามารถทดแทนได้

สิ่งที่ พ่อครัวหุ่นยนต์ทดแทนคนไม่ได้ ก็คือ “การใส่ใจลงไปในอาหาร” พ่อครัวหุ่นยนต์ทำอาหารตามโปรแกรมสั่ง แต่คนทำอาหารด้วยใจรัก ความรักที่ใส่ลงไปในอาหารทำให้อาหารอร่อยขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว ไม่เชื่อลองเทียบ “อาหารแม่ทำ” ดูได้ครับ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม

“ลม เปลี่ยนทิศ”