นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงการจัดการปัญหาคนขอทานว่า ปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2566 ได้จัดระเบียบพบผู้ทำการขอทาน 238 ราย เป็นคนไทย 170 ราย และต่างด้าว 68 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา ทั้งนี้การดำเนินการเชิงนโยบายในปี 2566 มุ่งเน้นบูรณาการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในพื้นที่สำคัญและในงานเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการจัดระเบียบไปแล้ว 35 ครั้ง ประชาสัมพันธ์การขอทานผิดกฎหมายผ่านช่องทางต่างๆอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทานไทยตามภูมิลำเนาเพื่อไม่ให้กลับมาทำการขอทานซ้ำ 109 คน การตั้งคณะทำงานสหวิชาชีพเพื่อการควบคุม คุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทานทุกจังหวัด (เว้นกรุงเทพฯ) อบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 หลักสูตรออนไลน์ 3 รุ่น ให้เจ้าหน้าที่ พม. และข้าราชการสามัญกรุงเทพฯ ตำแหน่งเทศกิจ สังกัดสำนักงานเขตกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีพนักงานเจ้าหน้าที่ 390 คน
อธิบดี พส. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวขายพวงมาลัยและขอทาน บริเวณแยกยมราช จำนวน 12 ครอบครัว จัดประชุมเพื่อขอความร่วมมือตรวจตราและเฝ้าระวังผู้ทำการขอทาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมการขอทานในเดือน มิ.ย.2566 รวมถึงการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการควบคุมการขอทาน ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2556–2570) เพื่อเป็นแนวปฏิบัติงานตามเจตนารมณ์กฎหมายภายใต้วิสัยทัศน์ มุ่งลดขอทาน สร้างสังคมให้เข้าใจ ด้วยระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ มีการออกบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถให้ 1,013 ราย ส่งเสริมเปิดพื้นที่ให้ผู้แสดงความสามารถต่างจังหวัด 1,187 พื้นที่ และกรุงเทพฯ 71 พื้นที่ รองรับผู้แสดงความสามารถ 2,042 คน การพัฒนาระบบลงทะเบียนผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ โดยยื่นคำขอออนไลน์และนัดวันออดิชันผ่านระบบออนไลน์ ส่วนปัญหาเด็กขายนมเปรี้ยวตามสี่แยก ได้ประสานไปยังบริษัทนมเปรี้ยวแต่ก็ได้รับคำชี้แจงว่าบริษัทไม่มีนโยบายให้เด็กไปขายอยู่แล้ว จึงน่าจะเป็นฝ่ายพ่อแม่ผู้ปกครองที่ให้ลูกไปขาย ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายการจราจร และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก.
...