ประชาชน 13 ล้านคน เฮ ตำรวจเร่งลบชื่อจาก ทะเบียนประวัติอาชญากร หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จัดทำระเบียบการพิมพ์ลายนิ้วมือฉบับใหม่ แยกประเภทออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร ต่อไปนี้ จะบันทึกลงทะเบียนประวัติอาชญากรต่อเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุกแล้วเท่านั้น แถมคอยลบประวัติผู้ต้องหาที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้องด้วย หลังข้อมูลเก่ามีชาวบ้านกว่า 13 ล้านคนมีชื่อติดอยู่ ล่าสุดตรวจสอบข้อมูลปัจจุบันแก้ไขลบชื่อออกแล้วถึง 10 ล้านคน “รองโจ๊ก” ยันตำรวจกำลังทำเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบว่ามีชื่อตัวเองอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรหรือไม่
กรณีเกิดปัญหาในสังคม ผู้เคยมีคดีความจนถูกออกหมายจับ หลายกรณีคดีความถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว แต่ชื่อยังมีหมายจับติดอยู่ในกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้เกิดปัญหามากมาย อาทิ ถูกล็อกตัวที่สนามบินไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เนื่องจากมีหมายจับ หรือผู้ที่ไปสมัครทำงาน แต่หลังตรวจสอบประวัติอาชญากร ปรากฏว่า ยังมีหมายจับค้างอยู่ ทั้งที่คดีความจบสิ้นไปแล้ว ทำให้เสียโอกาสในการดำเนินชีวิต จนกลายเป็นกระแสสังคมว่า หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะตำรวจทำอะไรอยู่
ความคืบหน้าจากห้อง 322 ชั้น 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 มิ.ย. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.ต.ต.กิตติพันธุ์ จุนทรการ รอง ผบช.สพฐ.ตร. และผู้ชายไทย 3 คนที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรได้รับความเสียหาย แต่ถูกลบชื่อออกไปแล้ว ร่วมกันแถลงข่าวการเปลี่ยนแปลงระบบทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ กรณีศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จัดทำระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือฉบับใหม่ คัดแยกประเภทออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร และจะบันทึกลงทะเบียนประวัติอาชญากร เมื่อศาลพิพากษาให้จำคุกแล้วเท่านั้น และลบประวัติผู้ต้องหาที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
...
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ทำให้มีการแก้ไขลบรายชื่อประชาชนในทะเบียนประวัติอาชญากรได้จำนวนมาก จากอดีตที่ไม่เคยแก้ไขจนทำให้ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถสมัครงานได้ เนื่องจากระเบียบเดิมกำหนดให้ผู้กระทำผิด หรือผู้ต้องหาต้องถูกนำชื่อไปบันทึกในทะเบียนประวัติอาชญากรทันทีโดยการพิมพ์ลายนิ้วมือ แม้ว่าสุดท้ายแล้วอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือเสียชีวิตไปแล้วก็ไม่ได้รับการลบชื่อออก อีกทั้งการพิจารณานำรายชื่อผู้กระทำผิดออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ผู้เสียหายต้องแจ้งและพิสูจน์ได้ว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่จับกุมผิดตัว หรือผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิตแล้วเท่านั้น
“จากการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศาล อัยการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว พบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในแต่ละปีพบว่ามีคดีอาญากว่า 800,000 คดี รวมผู้เกี่ยวข้องกว่า 13 ล้านคนจากประชากรไทย 66 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่า ในคนไทย 6 คนจะมีผู้มีรายชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากร 1 คน หลังจากการประกาศบังคับใช้ระเบียบฉบับดังกล่าวแล้ว มีการแก้ไขปรับปรุงการจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 แบบ 1.ทะเบียนประวัติผู้ต้องหาคือข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ห้ามเปิดเผย เว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานสำนักพระราชวัง งานสมัครเข้ารับราชการ 2.ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากรคือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า กระทำความผิดโดยศาลลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือรอการลงโทษ หรือมีเพียงโทษปรับ หรือกักขัง รวมถึงกระทำผิดโดยประมาท ห้ามเปิดเผยทั่วไปเว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด 3.ทะเบียนประวัติอาชญากรคือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ศาลลงโทษจำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไปโดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นการกระทำผิดโดยประมาท” นายปริญญากล่าว
ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กล่าวว่า หลังจาก ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้แล้ว 1 เดือน ตำรวจสามารถลบรายชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากรได้แล้วกว่า 10,000,000 คน เหลือประมาณ 3.7 ล้านรายที่คดี ยังไม่สิ้นสุด ถือเป็นการคืนสิทธิ์ให้กับประชาชนอย่าง แท้จริง ประชาชนสามารถตรวจสอบประวัติอาชญากรของตัวเองได้ที่โรงพักทั่วประเทศ และหลังจากนี้หากศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีแล้ว ทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรจะส่งเอกสาร ไปยังโรงพักทั่วประเทศ เพื่อให้สายตรวจนำเอกสารไปแจ้งให้ประชาชนถึงบ้าน ปัจจุบันแจ้งไปแล้วประมาณ 600,000 ราย นอกจากนี้ ตำรวจอยู่ระหว่างการจัดทำ เว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อประวัติอาชญากรได้ด้วยตัวเอง คาดว่าจะเสร็จ ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้
“ส่วนกรณีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ การจราจรฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือศาลพิจารณาใช้ดุลพินิจให้รอลงอาญา หากมีการชดใช้เยียวยาเป็นที่พอใจแล้วจะถูกลบประวัติอาชญากร ส่วนจะแก้ไขระเบียบเพิ่มเติมหรือไม่ จะมีการพิจารณา ในอนาคต แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังต้องเก็บข้อมูลบางส่วน ของกลุ่มที่กระทำความผิดซ้ำ เป็นคดีที่เกี่ยวกับเพศ อาชญากรต่อเนื่อง หรือเกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อใช้ เป็นฐานข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ แต่จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ยืนยันว่าไม่กระทบสิทธิ์ของประชาชนอย่างแน่นอน” รอง ผบ.ตร. กล่าว
ส่วน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กล่าวว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก กรณีประวัติอาชญากรที่ยังคงติดอยู่ ขอชื่นชมสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าว กลุ่มที่ทำร้ายสังคม จะถูกคัดแยกเป็นอีกกลุ่ม หมายความว่า ผู้ที่ไม่ได้ กระทำผิด หรือกระทำผิดเล็กน้อยจะถูกแยกออกไป จากกรณีดังกล่าว เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้มีประวัติอาชญากรได้โอกาส หรือได้ชีวิตใหม่กลับคืนมา กสม.ให้ข้อเสนอแนะและดำเนินการนโยบายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยทางรอง ผบ.ตร. และอาจารย์ปริญญาดำเนินการดังกล่าว มีการทบทวนสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1 มีการหารือกรณีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงานได้รวดเร็ว จะนำผล ดังกล่าวไปหารือในการประชุมครั้งต่อไป
...
“ขณะเดียวกัน ให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่างกฎหมายทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย เพื่อเป็นมาตรฐานจากการดำเนินการดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชน ทั้งนี้ ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ ให้กับประชาชนที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือเป็นอาชญากรได้ด้วย” น.ส.ปิติกาญจน์กล่าว
ส่วนประชาชนที่ได้รับการลบประวัติอาชญากรตามระเบียบใหม่กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สามารถกลับ ไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถสมัครงานได้ตามที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือเดินทางไป ต่างประเทศ ถือว่าเป็นโครงการที่ดี และเชื่อว่าโครงการนี้ จะช่วยลดการก่ออาชญากรรมซ้ำซ้อนได้แน่นอน