ยุค “นวัตกรรมเทคโนโลยีพลิกโลก” โลกปัจจุบันที่อยู่ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ มีความเป็นอัตโนมัติและมีความเป็นอัจฉริยะ (smart) มากขึ้น
โดย “เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)” หรือ “ชิป” กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่ “สมอง” ของอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ที่ใช้แพร่หลายในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องมือที่ใช้วินิจฉัยรักษาโรค ไปจนถึงเครื่องบินขับไล่ ตลอดจนเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะด้านการเกษตร รถยนต์ การแพทย์ คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์อัตโนมัติ
อาจเรียกได้ว่าทุกๆบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เบื้องหลังการทำงานที่ฉลาดขึ้นคือการมีเซมิคอนดักเตอร์อยู่นั่นเอง
“เซมิคอนดักเตอร์ มีความสำคัญและมีความต้องการสูงมากในปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วงชิงความได้เปรียบและพยายามเข้าครอบครองห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้เร็วและมากที่สุด เพื่อจะเป็นผู้นำในการควบคุมเทคโนโลยีในอนาคต ในประเทศไทยมีการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนการประกอบและทดสอบ (assembly and testing) และเริ่มมีในส่วนของการออกแบบ (IC Design) บ้าง แต่ยังขาดในส่วนการผลิต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งปัญหาสำคัญของการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ คือการลงทุนสูงและความต้องการกำลังคนที่มีทักษะสูงค่อนข้างมาก หากประเทศไทยจะให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนากำลังคนในด้านนี้ให้มีคุณภาพ มีปริมาณมากพอ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุน โดยขณะนี้ ได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยของไทยมีการแสวงหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้เกิดการผลิตกำลังคนด้านนี้” ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความจำเป็นในการผลิตกำลังคนเซมิคอนดักเตอร์
...
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.ที่ได้รับมอบหมายจาก รมว.อว.เปิดเผยว่า ขณะนี้มี มหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความสนใจในการทำหลักสูตรในการผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยได้มีการร่วมหารือกับ มหาวิทยาลัยชั้นนำ 6 แห่งของประเทศไต้หวัน ที่มีการเรียนการสอนและทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อร่วมมือกันจะมีทั้งการผลิตกำลังคนและงานวิจัย ซึ่งในการผลิตกำลังคนจะมีการจัดทำหลักสูตรในระดับปริญญาตรี-โท ด้านเซมิคอนดักเตอร์ร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยไทยจะใช้วิธีการ Higher Education Sandbox ในการพัฒนาหลักสูตร ที่ไม่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการ ผลิตบัณฑิตให้ตอบสนองต่อการผลิตคนที่มีคุณภาพที่มีปริมาณมากและรวดเร็ว ตั้งเป้าให้มีนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงในโปรแกรมไม่น้อยกว่า 200 คน/ปี ในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านเครื่องมือ ด้านวัสดุ ด้านการออกแบบวงจรรวม (IC) ด้านกระบวนการผลิต ด้านการทดสอบและแพ็กกิ้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง
“มหาวิทยาลัยไต้หวันบางแห่งยังจะช่วยจัดฝึกอบรมระยะสั้นให้แก่ บุคลากรและนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาไทยได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลกที่ไต้หวัน รวมถึงส่งเสริมให้นักวิจัยไทยได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยของไต้หวัน ทั้งนี้เชื่อว่าจะสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ขณะที่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเป็นอีกหนึ่งแนวร่วมที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันเรื่องนี้ โดย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไออยู่ระหว่างหารือกับบริษัทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หลายราย ที่มีแนวโน้มว่าจะเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต รวมทั้งได้หารือกับบริษัทรายเดิมที่มีฐานการผลิตบางส่วนอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ให้พิจารณาขยายการลงทุนโดยนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาผลิตในไทยมากขึ้น
...
“บีโอไอยังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยงาน The Knowledge Exchange (KX) ม.เทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และองค์กร Generation ประเทศไทย เพื่อสร้างกลไกการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศของการลงทุนในไทยและเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในปี 2566” เลขาธิการบีโอไอ กล่าว
...
“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่าการสร้างและผลิตบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์น่าจะช่วยตอบโจทย์ประเทศไทย เพราะในยุคนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเซมิคอนดักเตอร์ เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทั้งหากมีการวางยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้านนี้ไว้อย่างชัดเจน จะช่วยสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
สำคัญที่สุดคือ เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นการพัฒนากำลังด้านนี้อย่างจริงจัง จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน.
ทีมข่าวอุดมศึกษา